ปราสาทภูมิโปน ประกอบด้วยปราสาทอิฐ 3 หลัง และฐานปราสาทศิลาแลงอีก 1 หลัง ตั้งเรียงกันจากเหนือไปใต้ ปราสาทอิฐองค์ที่ 3 ซึ่งเป็นปรางค์ประธาน เป็นปราสาทหลังใหญ่ ก่อด้วยอิฐไม่สอปูน มีเสาประดับกรอบประตูและทับหลังทำด้วยหินทราย ใต้หน้าบันเหนือทับหลังขึ้นไปมีลายรูปใบไม้ม้วน รูปแบบและเทคนิคการก่อสร้างปราสาทประธานเทียบได้กับปราสาทขอมสมัยก่อนพระนคร ร่วมสมัยกับปราสาทหลังที่ 1 และเมื่อกรมศิลปากรดำเนินการขุดแต่ง ได้พบจารึกภาษาสันสกฤต อักษรปัลลวะ ซึ่งเคยใช้ในราวพุทธศตวรรษที่ 12-13 ซึ่งถือเป็นจารึกรุ่นแรก ๆ (ส่วนจารึกที่ระบุศักราชชัดเจนเท่าที่พบในประเทศไทยที่ถือว่าเก่าแก่ที่สุด คือ จารึกเขาน้อย อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พุทธศักราช 1180 และจารึกเขาวัง อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว พุทธศักราช 1182) ส่วนปราสาทอิฐหลังเล็ก ที่ตั้งตรงกลาง และปราสาทที่มีฐานศิลาแลง ด้านทิศใต้นั้น สร้างขึ้นในสมัย หลังปราสาทภูมิโปน คงจะสร้างขึ้น เป็นศาสนสถาน ในศาสนาฮินดู ไศวนิกาย เช่นเดียวกับศาสนสถานอื่น ๆ ในรุ่นเดียวกัน แม้จะไม่พบ รูปเคารพ ซึ่งควรจะเป็นศิวลึงค์ อยู่ภายในองค์ปรางค์ แต่ที่ปรางค์องค์ใหญ่ยังมี ท่อโสมสูตร คือ ท่อน้ำมนต์ ที่ต่อออกมา จากแท่นฐานรูปเคารพ ในห้องกลาง ติดอยู่ที่ผนังในระดับพื้นห้อง สอดคล้องกับอายุของรูปแบบศิลปะของปราสาทนี้ด้วย ซึ่งนับเป็นโบราณสถานที่เก่าแก่มากที่สุดในประเทศไทย และเป็นจังหวัดที่พบศิลาจารึกอักษรปัลลวะ-สันสกฤต ส่วนฐานปราสาทศิลาแลงและปราสาทหลังที่ 2 เป็นการสร้างในสมัยต่อมา ไม่อาจกำหนดอายุได้ชัดเจน ปราสาทแห่งนี้มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวข้อง คือ ตำนาน เนียงด็อฮทม ซึ่งเป็นราชธิดาขอมผู้ปกครองเมืองภูมิโปนองค์สุดท้าย กล่าวไว้ในส่วนของตำนานและนิทานเมืองสุรินทร์ การเดินทางจากจังหวัดสุรินทร์ ใช้ทางหลวงหมายเลข 2077 (สายสุรินทร์-สังขละบุรี) สอบถามข้อมูล ได้ที่ ททท.สำนักงานสุรินทร์ โทร 0 4451 4447-8