สสส. กรมควบคุมโรค ลงพื้นที่ปูพรมสำรวจนักดื่มทั่วไทย หวังลดพฤติกรรมการดื่ม
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แผนงานสื่อศิลปวัฒนธรรมสร้างเสริมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ฯลฯ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายระดับภูมิภาค เพื่อรณรงค์และเฝ้าระวังพฤติกรรมเสี่ยงของผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในชุมชนผ่านระบบ “ติดเหล้ายังhttp://xn--72c.com/” ภาคเหนือตอนบน ที่ห้องประชุมคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยนายแพทย์พงศธร ชาติพิทักษ์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ปัจจุบันแอลกอฮอล์ยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงในการเสียชีวิตของคนไทยเป็นอันดับที่ 6 และสาเหตุของความสูญเสียทั้งทางร่างกาย จิตใจ สาเหตุของโรค เวลา ฯลฯ มาเป็นอันดับที่ 2 รองจากการสูบบุหรี่
นายแพทย์พงศธร กล่าวว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากการดื่มแอลกอฮอล์ปีละประมาณ 3 ล้านคน มากกว่าสถิติการเกิดอุบัติเหตุด้วย และในจำนวนนี้มีกว่า 200,000 คน ที่ดื่มสุราแล้วไปฆ่าตัวตาย จึงบ่งชี้ว่าแอลกอฮอล์ไม่ใช่เครื่องดื่มคลายเครียดแต่อย่างใด สำหรับประเทศไทยเรื่องแอลกอฮอล์ถือเป็นปัญหาที่หนักหน่วงต่อการสูญเสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ ได้รับทุกขเวทนา โดยเฉพาะพบอัตราการดื่มในผู้ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี ขึ้นไปในปี 2564 ที่ผ่านมาว่า อยู่ในภาคเหนือ 3 อันดับแรก ได้แก่ จ.น่าน จ.แพร่ และ จ.เชียงราย รองลงไปคือ จ.สระแก้ว จ.พะเยา จ.ขอนแก่น จ.สุรินทร์ จ.มุกดาหาร จ.ลำพูน และ จ.ลำปาง
นายแพทย์พงศธร ยังได้กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาผู้ที่ดื่มสุรามากๆ และจะเดินทางเข้าพบแพทย์หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ต่อเมื่อได้ป่วยจนเดินแทบไม่ไหวแล้ว และอัตราการรักษาเพื่อให้เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ก็น้อยมาก ดังนั้นปัจจุบันทางกรมควบคุมโรคและเครือข่ายจึงได้ปรับวิธีการ ด้วยการคัดกรองพฤติกรรมการดื่มของประชากรทั่วไป โดยไม่จำกัดเฉพาะผู้ที่ดื่มมากๆ เช่นนั้นอีกแล้ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงผู้ที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไปที่มีความเสี่ยงต่ำในการดื่ม เสี่ยงปานกลาง และสูง เพื่อให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือเครือข่าย สามารถเข้าไปให้คำปรึกษาถึงสาเหตุการดื่ม พยายามให้ลด ละ เลิก การดื่ม ตามหลักเกณฑ์คำถามที่กำหนดไว้ ก่อนพากลุ่มเสี่ยงปานกลางและสูงไปพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ส่วนระดับต่ำสามารถให้คำแนะนำในการเลิกดื่มได้เลย
ทั้งนี้ในปี 2564 ที่ผ่านมาได้มีการคัดกรองพฤติกรรมการดื่มของประชากรไทยแบบปูพรมทั่วประเทศไปแล้วประมาณ 35.30% มีการนำกลุ่มเป้าหมายไปทำการบำบัดแล้วจำนวนมาก และในปี 2565 นี้ตั้งเป้าที่จะให้ได้ถึง 45% จากนั้นจะมีการปรับหรืออัพเดทข้อมูลทุกปีโดยตั้งเป้าว่า ในปี 2570 จะให้ได้ถึง 70% ต่อไป