ป่วยดับรายวันยังพุ่งสูงสุรินทร์ชิงประกาศแล้วเป็นโรคประจำถิ่น1เมย.เร่งจัดซื้อโมลนูพิราเวียร์ยากินใช้รักษากลุ่มเสี่ยง
เกาะติดข่าว กดติดตาม ข่าวสด
โฆษกรัฐบาล ‘ธนกร วังบุญคงชนะ’ ไม่รอด ผลตรวจ RT-PCR เป็นบวก ต้องกักตัว-เวิร์ก ฟรอม โฮม ส่วน ‘นายกฯ ตู่’ โชคดีรอด ไม่ได้ใกล้ชิดกันในช่วง 4 วัน จึงไม่ต้องกักเก็บตัวสังเกตอาการ สถานการณ์โควิดไทยยังทรงตัว ติดเชื้อใหม่ 2.5 หมื่นกว่าราย พบ 52 จังหวัดจำนวนเกินร้อย ขณะที่ 11 จังหวัดสูงสุดมากกว่า 600 ราย ยอดดับกลับมาสูง 84 ศพ จาก 44 จังหวัด ทั้งกลุ่มเสี่ยงผู้สูงอายุและเด็ก รวมเด็ก 6 ขวบ และทวด 104 ปีดับ สลดทารกเพศหญิงอายุ 10 เดือนสังเวยโรคร้าย หลังติดเชื้อนานครึ่งเดือน ‘สุรินทร์’ชิงประกาศพร้อมเปลี่ยนโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่นจังหวัดแรกของประเทศ เริ่ม 1 เม.ย.นี้ สนามสอบเข้าม.4 ราชสีมาวิทยาลัยคึกคัก เจ้าหน้าที่จัดแยกอาคารเด็กที่มีผลเอทีเคขึ้น 2 ขีด อภ.เร่งจัดซื้อยาโมลนูพิราเวียร์รักษากลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่ได้รับวัคซีน คาดผู้ผลิตส่งล็อตแรกได้ 10 ล้านแคปซูล หลังทำสัญญา 2 สัปดาห์
ป่วยกว่า 2.5 หมื่น-11 จว.เกิน 600
เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์โควิด-19 ประจำวันว่า ประเทศไทยยังพบผู้ติดเชื้อใหม่เกินหมื่นรายเป็นวันที่ 51 ในการระบาดระลอกโอมิครอน โดยวันนี้พบติดเชื้อรายใหม่ 25,821 ราย สะสม 3,529,085 ราย หายป่วย 24,066 ราย สะสม 3,252,350 ราย เสียชีวิต 84 ราย สะสม 24,799 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 251,936 ราย อยู่ในโรงพยาบาล (ร.พ.) 65,668 ราย อยู่ ร.พ.สนาม HI CI 186,268 ราย อาการหนัก 1,672 ราย และ ใส่เครื่องช่วยหายใจ 644 ราย อัตราครองเตียง สีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 27.6%
ทั้งนี้ผู้เสียชีวิต 84 ราย มาจาก 44 จังหวัดได้แก่ กทม. 8 ราย, สมุทรปราการ 6 ราย, ตราด ลพบุรี จังหวัดละ 5 ราย, สมุทรปราการ 4 ราย, มหาสารคาม กาฬสินธุ์ พะเยา สุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 3 ราย, นครปฐม ศรีสะเกษ หนองคาย อุตรดิตถ์ แพร่ สตูล สงขลา พัทลุง ระยอง จังหวัดละ 2 ราย และชัยภูมิ บุรีรัมย์ อุดรธานี สุรินทร์ อุบลราชธานี ตาก น่าน ภูเก็ต ระนอง ชุมพร กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช ยะลา ปัตตานี นครสวรรค์ พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ชลบุรี จันทบุรี สระแก้ว กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และเพชรบุรี จังหวัดละ 1 ราย เป็นชาย 48 ราย หญิง 36 ราย อายุ 6-104 ปี เฉลี่ย 76 ปี โดยเป็นผู้สูงอายุและโรคประจำตัวรวม 99%
ส่วน 11 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดเกิน 600 ราย ได้แก่ 1.กทม. 2,749 ราย 2.นครศรีธรรมราช 1,537 ราย 3.ชลบุรี 1,293 ราย 4.สมุทรสาคร 955 ราย 5.สมุทรปราการ 870 ราย 6.สงขลา 783 ราย 7.พระนครศรีอยุธยา 664 ราย 8.นนทบุรี 633 ราย 9.ขอนแก่น 624 ราย และ 10.ราชบุรี 611 ราย 11.ระยอง 606 ราย
เปิดชื่อ 52 จว.-ติดเชื้อเกิน 100 ราย
สำหรับจังหวัดติดเชื้อถึง 100 รายขึ้นไปยังมีอีก 53 จังหวัดคือ ฉะเชิงเทรา 598 ราย, นครปฐม 598 ราย, ร้อยเอ็ด 541 ราย, นครราชสีมา 519 ราย, บุรีรัมย์ 518 ราย, สุพรรณบุรี 452 ราย, พัทลุง 432 ราย, สมุทรสงคราม 407 ราย, อุบลราชธานี 358 ราย, สกลนคร 338 ราย, นครสวรรค์ 330 ราย, อุดรธานี 330 ราย, ปทุมธานี 323 ราย, เชียงใหม่ 319 ราย, ปราจีนบุรี 319 ราย, ประจวบคีรีขันธ์ 309 ราย, อ่างทอง 306 ราย, เพชรบุรี 298 ราย, สระแก้ว 285 ราย, ภูเก็ต 282 ราย, มหาสารคาม 277 ราย, ศรีสะเกษ 277 ราย, หนองคาย 253 ราย
กาญจนบุรี 249 ราย, สุโขทัย 244 ราย, สระบุรี 243 ราย, กำแพงเพชร 234 ราย, จันทบุรี 234 ราย, สุรินทร์ 233 ราย, กาฬสินธุ์ 212 ราย, สตูล 203 ราย, กระบี่ 195 ราย, ระนอง 190 ราย, ตราด 177 ราย, ชุมพร 173 ราย, นครนายก 173 ราย, เลย 170 ราย, สุราษฎร์ธานี 164 ราย, ชัยภูมิ 153 ราย, นราธิวาส 153 ราย, ลพบุรี 150 ราย, น่าน 141 ราย, ตรัง 139 ราย, แพร่ 135 ราย, ปัตตานี 133 ราย, ยโสธร 127 ราย, พิษณุโลก 124 ราย, ตาก 114 ราย, บึงกาฬ 112 ราย, สิงห์บุรี 112 ราย, ยะลา 101 ราย และอุทัยธานี 100 ราย ทั้งนี้ ลำพูน ไม่มีรายงานติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR หรือเป็น 0 ราย
ส่วนการติดเชื้อมาจากเรือนจำพบ 70 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 56 ราย ใน 19 ประเทศ โดยมาจากสิงคโปร์มากที่สุด 6 ราย ตุรกี เมียนมา มาเลเซีย ประเทศละ 5 ราย ออสเตรเลีย 4 ราย ที่เหลือติดเชื้อประเทศละ 1-3 ราย โดยเข้าระบบ Test&Go 35 ราย แซนด์บ็อกซ์ 2 ราย กักตัว 13 ราย และลักลอบเข้าประเทศ 6 ราย มาจากเมียนมา 5 ราย และมาเลเซีย 1 ราย สำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1-26 มี.ค. จำนวน 225,987 ราย รายงานติดเชื้อ 1,377 ราย คิดเป็น 0.61% แบ่งเป็นระบบ Test&Go 202,513 ราย ติดเชื้อ 919 ราย คิดเป็น 0.45% แซนด์บ็อกซ์ 19,856 ราย ติดเชื้อ 354 ราย คิดเป็น 1.78% และกักตัว 3,618 ราย ติดเชื้อ 104 ราย คิดเป็น 2.87%
‘ตู่’ปลื้มผลงาน‘เจอแจกจบ’
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม ติดตามการให้บริการผู้ป่วยโควิด-19 ใน รูปแบบ “เจอ แจก จบ” เพื่อผู้ป่วยโควิด-19 ทุกคนเข้าถึงการรักษาอย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ขณะที่ยังคงเน้นประสิทธิภาพในการดูแลรักษาผู้ป่วยตามระดับอาการ โดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยที่เข้ารับบริการ พบว่า 92% มีความพึงพอใจในระดับมากถึงมากที่สุด ตั้งแต่วันที่ 1-24 มี.ค. มีสถานพยาบาลเข้าร่วม 901 แห่ง ให้บริการสำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกและแยกกักตัวที่บ้าน ได้วันละ 100,000 แสนราย มีผู้ป่วยเข้ารับบริการสะสม 656,856 ราย เฉลี่ยวันละ 27,369 ราย เฉพาะพื้นที่กทม.ให้บริการผู้ป่วยได้วันละ 10,000 ราย มีผู้ป่วยเข้ารับบริการสะสม 65,305 ราย เฉลี่ยวันละ 2,839 ราย
ทั้งนี้นายกฯ ย้ำความสำคัญในการรักษาความมั่นคงระบบสาธารณสุขของไทย มีสมรรถนะที่ดีและเตรียมพร้อมในการรองรับทุกสถานการณ์ ควบคู่ไปกับการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลด้วย
สำหรับการให้บริการวัคซีนโควิด-19 สะสมอยู่ที่ 128,736,472 โดส เข็มที่ 1 ฉีดสะสม 55,307,656 โดส เข็มที่ 2 ฉีดสะสม 50,228,688 โดส เข็มที่ 3 ฉีดสะสม 21,108,189 โดส เข็มที่ 4 ฉีดสะสม 2,091,939 โดส
ชูต่อยอดท่องเที่ยวพร้อมทำงาน
นายธนกรกล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์เดินหน้าแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวในปีนี้ ภายใต้การรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและมาตรการสาธารณสุข โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ขานรับนโยบายพลิกโฉมการท่องเที่ยวมุมมองใหม่ในยุควิถีใหม่ ในโครงการ Workation Paradise Throughout Thailand เป็นการต่อยอดการท่องเที่ยวในรูปแบบท่องเที่ยวพร้อมการทำงาน ตามแนวคิดการท่องเที่ยววิถีใหม่ หรือ New Normal ตอบโจทย์การเดินทางภายใต้สถานการณ์ของโรคโควิด-19 ส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวในไทยเดินทางท่องเที่ยวในวันธรรมดา เพื่อช่วยกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวของไทย และช่วยให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ปรับเปลี่ยน พัฒนาธุรกิจ โดยเฉพาะ ผู้ประกอบการจากธุรกิจที่พักแบบเดิมสู่มิติใหม่ของการบริการ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการในปัจจุบัน คือการทำงาน และท่องเที่ยวได้ในเวลาเดียวกัน ซึ่งการนำเสนอสินค้าและบริการนี้ จะช่วยเพิ่มโอกาส สร้างรายได้เข้าสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว พร้อมกับยกระดับธุรกิจท่องเที่ยวของประเทศไทย ให้สามารถเดินหน้าได้อย่างยั่งยืน
“รัฐบาลยังคงเดินหน้ากระตุ้นไทยเที่ยวไทยอย่างต่อเนื่อง แม้การแพร่ระบาดของ โอมิครอนจะยังคงมีอยู่ แต่ก็มีการวางแผนเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านการระบาดของโรคโควิด-19 สู่โรคประจำถิ่น ที่สอดคล้องกับระดับสถานการณ์ โดยคำนึงถึงสุขภาพของคนไทย และการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม นายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามประเมินสถานการณ์ทั้งภายในประเทศ และศึกษากรณีของต่างประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อวางแผนเดินหน้าฟื้นประเทศภายใต้การรักษาสมดุลทางเศรษฐกิจและสาธารณสุขต่อไป ในส่วนของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ได้มีการเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ซึ่งทุกโครงการจะดำเนินการตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด” นายธนกรกล่าว
‘ธนกร’เจอผลบวกต้องWFH
เวลา 13.45 น. นายธนกรเปิดเผยว่า หลังเข้าตรวจหาเชื้อโควิด-19 วันนี้ พบผลตรวจในรูปแบบ RT-PCR มีผลเป็นบวก แต่ปรากฏมีอาการน้อยหรือแทบไม่มีอาการเลย โดยแค่รู้สึกปวดเมื่อยเล็กน้อย ขณะที่สุขภาพใจ ยังแข็งแรงดีอยู่
“ผมต้องขออภัยและขอโทษทุกท่านสำหรับความไม่สะดวก และเพื่อให้เป็นไปตามคำแนะนำของสาธารณสุข ผมขอ WFH ทำงานที่บ้านตามมาตรการ แต่ยังคงส่งข่าวและตอบคำถามสื่อมวลชนผ่านทางไลน์ และโทรศัพท์เหมือนทุกวัน” นายธนกรกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากผลตรวจ RT-PCR ของโฆษกรัฐบาลเป็นบวก หลายฝ่ายมีความเป็นห่วง พล.อ.ประยุทธ์ เนื่องจากโฆษกรัฐบาลทำงานใกล้ชิดตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องตกเป็นกลุ่มเสี่ยง และจะต้องกักตัวตามมาตรการของสธ.หรือไม่ ล่าสุดคณะทำงานใกล้ชิดนายกฯ เปิดเผยถึงไทม์ไลน์ ระหว่างการทำงานของนายกฯ และนายธนกร ซึ่งปรากฏว่าในช่วง 4 วันก่อนการตรวจพบการติดเชื้อครั้งนี้ นายธนกรไม่ได้ใกล้ชิดกับพล.อ.ประยุทธ์ จึงไม่ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักตัว
สั่งอภ.เร่งซื้อโมลนูพิราเวียร์
วันเดียวกัน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดสธ. และประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้ อภ.เร่งจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ ยาต้านไวรัสชนิดรับประทาน เพื่อใช้รักษาโรคโควิด-19 ในกลุ่มเสี่ยงอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ไม่มีประวัติได้รับวัคซีน หรือได้รับเพียง 1 เข็ม เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยลดความเสี่ยงการเกิดอาการรุนแรง ตามแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัยดูแลรักษาและป้องกันการติดเชื้อในร.พ. กรณีโรคโควิด-19 ของกรมการแพทย์ เพื่อเป็นทางเลือก เมื่อวันที่ 22 มี.ค.ที่ผ่านมา
“สธ.ได้แจ้งให้ อภ.จัดเตรียมข้อมูล เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำการแผนจัดซื้อจัดหายาโมลนูพิราเวียร์ โดยขณะนี้ อภ.ได้คัดเลือกแหล่งที่มีคุณภาพไว้แล้ว อยู่ระหว่างเจรจากำหนดส่งมอบและราคา ซึ่งผู้ผลิตมีความพร้อมในการส่งมอบ คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์หลังทำสัญญาสามารถจัดส่งยาให้ อภ.ล็อตแรกได้ประมาณ 10 ล้านแคปซูล โดย อภ.จะเป็นผู้จัดส่งกระจายให้กับหน่วยบริการแม่ข่ายแต่ละพื้นที่ ตามแผนกระจายยาของอีโอซี สธ.” นพ.เกียรติภูมิกล่าว
แจงร.พ.เก็บค่ารักษาพนักงานธ.ก.ส.
ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีพนักงานธนาคารเพื่อการเกษตรฯ (ธ.ก.ส.) เข้ารักษาโควิด-19 ผ่านระบบรักษาที่บ้าน (HI) โดยจับคู่ร.พ.วาปีปทุมให้การดูแล แต่ถูกเรียกเก็บเงินค่ารักษา ใบเสร็จระบุเบิกค่าห้องร.พ.และค่าอาหาร รวม 10 วัน 10,000 บาท และค่ายา 59 บาท รวมเป็น 10,059 บาท โดยแจ้งให้สำรองจ่ายและเบิกกับต้นสังกัดเอง ทั้งที่รักษาตัวที่บ้าน ทำอาหารกินเองหรือญาตินำส่ง และไม่มีหมอจากร.พ.มาพบเลยว่า เนื่องจากเป็นพนักงานธ.ก.ส. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่มีระเบียบของตัวเองในการดูแลกรณีเจ็บไข้ได้ป่วย ที่แยกออกจากระบบอื่น เข้าใจว่าผู้ป่วยสามารถใช้สิทธิ์ที่ธ.ก.ส.ดูแล ร.พ.จึงเรียกเก็บไปที่ต้นสังกัด โดยใช้อัตราการเบิกจ่ายที่อิงอัตราเดียวกับที่สปสช.ประกาศคือ ระดับอาการสีเขียวให้รักษาตัวที่บ้าน จะมีการจับคู่ระหว่างผู้ป่วยกับร.พ.ที่ดูแล มีเกณฑ์วิธีการดูแล นำยาไปให้ตามอาการ มีอุปกรณ์ตรวจวัดไข้และออกซิเจนปลายนิ้ว และมีแพทย์ติดตามอาการวันละ 2 ครั้งหรือแล้วแต่ร.พ.วางระบบ ซึ่งสปสช.จะจ่ายค่าบริหารจัดการต่อคนไข้ 1 คนคือ วันละ 600 บาท หากมีอาหารด้วยก็เพิ่มอีกวันละ 400 บาท รวมเป็น 1,000 บาทต่อวัน
“คนไข้อาจต้องสำรองจ่ายไปก่อนแล้วไปเบิกกับต้นสังกัด ซึ่งผมได้สอบถามไปยัง ธ.ก.ส.แล้วช่วงดึกวันที่ 26 มี.ค.ได้รับคำตอบว่า เคสนี้อยู่ในความดูแลของ ธ.ก.ส.ทพ.อรรถพร กล่าว
ส่วนสถานการณ์สายด่วน สปสช.1330 ขณะนี้ดีขึ้น หลังจากที่ สธ.มีโครงการเจอ แจก จบ ทำให้ผู้ป่วยโทร.เข้ามาน้อยลงมาก
ด้าน นพ.ประพันธ์ สุนทรปาสิต ผอ.ร.พ. วาปีปทุม ให้สัมภาษณ์ว่า อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อเท็จจริง รวมถึงจะสอบถามข้อมูลรายละเอียดจากผู้ป่วยที่ร้องเรียนด้วย
สุรินทร์ปลด-โรคประจำถิ่น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สธ. กล่าวช่วงหนึ่งในการสัมมนาเรื่อง การเปิดประเทศตามโครงการทราเวล บับเบิล (Travel Bubble) ระหว่างประเทศ กับประเทศเพื่อนบ้าน (ไทย-กัมพูชา) ที่ จ.สุรินทร์ เมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่าผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ ตั้งเป้าหมายให้สุรินทร์เป็นจังหวัดนำร่องแผนปรับโรคโควิด-19 เข้าสู่โรคประจำถิ่น โดยทางสธ.พร้อมให้การสนับสนุนทุกพื้นที่เดินหน้าตามเป้าหมาย เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นฟูอีกครั้งนั้น ล่าสุดวันที่ 27 มี.ค. ที่เพจเฟซบุ๊ก สำนักข่าวประชาสัมพันธ์จังหวัดสุรินทร์ วันที่ 27 มี.ค. โพสต์ข้อความว่า “สุรินทร์ พร้อม เปลี่ยน โควิด-19 ให้เป็นโรคประจำถิ่น จังหวัดแรกของประเทศ เริ่มวันที่ 1 เม.ย.นี้ เชิญชวนชาวสุรินทร์ทุกคน ไปฉีดเข็มที่ 3 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย โดย 1.ทุกหมู่บ้านยังรักษามาตรฐานหมู่บ้านสีฟ้า 2.อัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยติดเชื้อไม่เกินร้อยละ 0.5 3.อัตราการครองเตียงไม่เกินร้อยละ 3 ของ ผู้ป่วยทั้งหมด 4.ชาวสุรินทร์ฉีดวัคซีนเข็ม 1 และเข็ม 2 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 5.ทุกคนสวมหน้ากากอนามัย และดำเนินมาตรการ DMHTT 100%
ขณะที่สถานการณ์โรคโควิด-19 ใน จ.สุรินทร์ (ระลอกใหม่เดือนม.ค.) ข้อมูลระหว่างวันที่ 24 ธ.ค. 2564 ถึงวันที่ 26 มี.ค. เวลา 18.00 น. มีรายงานผู้ติดเชื้อยืนยันสะสม 16,354 ราย ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 276 ราย
สลดทารก 10 เดือนเสียชีวิต
ที่จ.กระบี่ เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิกระบี่พิทักษ์ประชา จ.กระบี่ รับศพด.ญ.นิศารัตน์ ขาวสุด หรือน้องทีน่า ทารกเพศหญิงอายุเพียง 10 เดือน ที่เสียชีวิตจากการติดเชื้อโควิด-19 จากร.พ.กระบี่ ไปประกอบพิธีฌาปนกิจ ที่วัดโภคาจุฑามาตย์ ในเขตเทศบาลเมืองกระบี่
น.ส.มณีรัตน์ คงเอียด อายุ 26 ปี ชาวจ.พัทลุง แม่ของเด็กหญิง กล่าวว่า ลูกสาวป่วยติดเชื้อโควิด-19 จากพ่อที่ทำงานที่เกาะลันตา ตั้งแต่วันที่ 12 มี.ค. จากนั้นเข้ารับการรักษาที่ ร.พ.เกาะลันตา 6 วัน อาการไม่ดีขึ้น จึงถูกส่งตัวมารักษาต่อที่ร.พ.กระบี่ กระทั่งวันที่ 26 มี.ค. ได้รับแจ้งจาก ร.พ.กระบี่ว่าน้องมีอาการทรุด เนื่องจากเชื้อลงปอด เจ้าหน้าที่พยายามช่วยกันยื้อชีวิต แต่สุดท้ายไม่สามารถยื้อชีวิตของน้องไว้ได้ และเสียชีวิตเมื่อช่วงบ่าย
แยกเด็กติดเชื้อสอบเข้า ม.4
ที่จ.นครราชสีมา บรรยากาศการสอบเข้าเรียนต่อของร.ร.ราชสีมาวิทยาลัย เต็มไปด้วยความคึกคัก มีนักเรียนจากหลายอำเภอเข้าสอบเรียนต่อในชั้นม.4 ห้องเรียนปกติ โดยวางมาตรการป้องกันและควบคุมโรคโควิด-19 อย่างเข้มงวด นักเรียนที่จะเข้าสอบต้องมีผลตรวจ ATK ไม่เกิน 72 ช.ม. อีกทั้งเปิดโอกาสให้นักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 24 คนสามารถเข้าสอบได้ โดยเปิดอาคาร 113 ปี เพื่อใช้เป็นสนามสอบสำหรับนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งมีการนำเชือกมาขึงเป็นแนวกั้นพร้อมกับข้อความ “ห้ามเข้า”
ทั้งยังประสานเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัด มาควบคุมการสอบของนักเรียนที่ติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะ พร้อมทั้งสวมชุด PPE ขณะคุมการสอบ
อุบลฯเผยเด็กป่วยสูงต่อเนื่อง
ที่ จ.อุบลราชธานี ผู้ปกครองและอาจารย์ ร.ร.ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ต่างพาลูกหลานอายุ 5-11 ขวบ เข้ารับการฉีดวัคซีนสำหรับเด็ก เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันให้กับบุตรหลาน ที่ศูนย์ฉีดวัคซีนอุบลสแควร์ อ.เมืองอุบลราชธานี เนื่องจากการติดเชื้อของการระบาดรอบใหม่ ได้แพร่ระบาดเข้าสู่คนในครอบครัว ทำให้มีเด็กติดเชื้อมากกว่าการระบาดทุกรอบที่ผ่านมา และคาดว่าช่วงเทศกาลสงกรานต์ จะมีคนติดเชื้อมากกว่าปกติด้วย
สำหรับจ.อุบลราชธานี ยังมียอดผู้ติดเชื้อสูงต่อเนื่อง โดยวันนี้มีผู้ติดเชื้อรวม 2,363 คน เป็นผู้ป่วย PCR 514 คน และเป็นผู้ป่วยเด็กถึง 141 คน เฉลี่ยทั้งสัปดาห์มีเด็กติดเชื้อไม่น้อยกว่าวันละ 100 คน
พื้นที่เสี่ยงที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุดคือ อ.วารินชำราบ และอ.เมือง โดยเป็นการติดเชื้อของคนในครอบครัวมากที่สุด ส่วนการรับเชื้อติดมาจากการสัมผัสร่วมในจุดต่างๆ ขณะเข้าไปใช้บริการตามห้างสรรพสินค้า ตลาดสด ร.ร. และในชุมชน เนื่องจากเชื้อ โอไมคอนติดได้ง่าย ส่วนคลัสเตอร์จากสถานบันเทิงรายล่าสุด คือ ร้านเหม่งจ๋าย หน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ ซึ่งถูกให้ปิดร้าน 10 วัน หลังพบคนติดเชื้อเฉลี่ยวันละกว่า 50 คน ขณะนี้ยอดผู้ป่วยลดลงเหลือเพียง 7 คน ทำให้มียอดรวมถึง ขณะนี้ 247 คน แต่มีกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องกักตัว 358 คน
เตือนอย่าติดเชื้อหวังเงินประกัน
นายจักรกฤษณ์ สลักเพชร นายกเทศบาลตำบลเกาะช้างใต้ เปิดเผยว่า เมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ต.เกาะช้างใต้ประสบปัญหาการติดเชื้อโควิด-19 ที่เเพร่ระบาดไปทั่วทั้งตำบล จึงต้องเปิดศูนย์พักคอยขึ้น 2 เเห่ง ยอดผู้ป่วยที่ศูนย์พักคอยในเดือนมี.ค.วันละประมาณ 100 คน
“ผมจึงต้องขอความร่วมมือจากทุกท่านให้ช่วยกันระมัดระวังในการดูแลตัวเองให้ดีเพื่อไม่ให้ติดเชื้อโรค ซึ่งผู้ที่ติดเชื้อโดยเหตุสุดวิสัยนั้นยังพอเข้าใจได้ เเต่ที่ได้ยินมามีผู้ที่ตั้งใจไปรับเชื้อเพื่อเอาเงินประกันเชื้อ โควิด-19 ส่วนใหญ่จะหมดประกันในเดือนพ.ค.นี้ ซึ่งตอนนี้เป็นกระเเสในหลายๆ จุด หากเป็นเรื่องจริงอยากจะบอกว่าเป็นความคิดที่ผิดเพราะนอกจากเป็นการทำร้ายตัวเอง โดยการไปรับเชื้อเเล้วยังไม่รู้ว่าหลังจากหายป่วยเเล้วร่างกายจะเป็นปกติหรือไม่ ปอดจะเหมือนเดิมหรือไม่ ผมจึงขอเตือน ไว้ก่อน”
สระแก้วพบผู้สูงอายุฉีด 2 เข็มดับ
นพ.ประภาส ผูกดวง นายแพทย์ สสจ.สระแก้ว กล่าวว่า สถานการณ์โรค COVID-19 จ.สระแก้ว ตรวจด้วย RT-PCR พบ ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในจังหวัด 276 ราย ติดเชื้อจากจังหวัดอื่น 9 ราย รวม 285 ราย รักษาหาย 1,412 ราย กำลังรักษา 10,197 ราย อาการหนัก 11 ราย เสียชีวิต 1 ราย
ด้านผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 เสียชีวิต 1 ราย เป็นรายที่ 29 ของจ.สระแก้ว ซึ่งการระบาดระลอกปีนี้มีผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิต 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 85 ปี สัญชาติไทย ศาสนาพุทธ ไม่ได้ประกอบอาชีพ ที่อยู่ขณะป่วย ต.สระแก้ว อ.เมือง จ.สระแก้ว มีโรคประจำตัว ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ความดันโลหิตสูง ไตวายเรื้อรัง ระยะ 4 น้ำหนัก 60 กิโลกรัม(ก.ก.) ส่วนสูง 165 เซนติเมตร(ซ.ม.) BMI = 22.04 กก/ม2 ปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อจากสัมผัสผู้ป่วยยืนยันในครอบครัว เคยได้รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม (เข็มที่ 1 Sinovac เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2564 เข็มที่ 2 AstraZeneca วันที่ 27 ก.ย. 2564) เสียชีวิตวันที่ 25 มี.ค. เวลา 14.54 น. ที่ร.พ.สมเด็จพระยุพราชสระแก้ว