ต่างประเทศ
สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน ค้นทหารเมียนมาร์ยึดอำนาจจาก”ซูจี” เจ้ายอดศึกชี้ส่งผลต่อแผนสันติภาพ
วันจันทร์ ที่ 01 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564, 20.21 น.
คลิกที่นี่
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 สภาเพื่อการกอบกู้รัฐฉาน (RCSS.) ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกรณีกองทัพเมียนมาร์ ใช้กำลังยึดอำนาจช่วงเช้าวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา พร้อมประกาศที่จะยืนเคียงข้างประชาชน ตามระบอบประชาธิปไตย
ขณะเดียวกังวลว่า กระบวนการเจรจาสันติภาพ(NCA) ที่กลุ่มชาติพันธ์ ,กองทัพ และรัฐบาล ร่วมสร้างกันมาจะชะงัก ดังนั้นจึงเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เคยร่วมมือ หันหน้ามาพูดคุยเรื่องนี้
เจ้ายอดศึกชี้ยึดอำนาจในเมียนมาร์ส่งผลต่อแผนสันติภาพ
พล.ท.เจ้ายอดศึก ผู้นำกองทัพรัฐฉานภาคใต้ (Shan State Army – South : SSA) ให้สัมภาษณ์ว่า การยึดอำนาจในเมียนมาร์ย่อมส่งกระทบต่อกระบวนการสันติภาพแน่นอน เพราะไม่มีรัฐสภาและองค์ประกอบอื่นๆ การที่ทหารเมียนมาร์บอกว่าเป็นแค่ประการสถานการณ์ฉุกเฉิน 1 ปีนั้นเป็นแค่การโกหกในการยึดอำนาจ เขาเพียงแต่ต้องการประกาศให้ดูสวยงามเท่านั้น
“กระบวนการสันติภาพคงต้องหาจุดเริ่มต้นใหม่อีก เราเสียเวลาไป 5-6 ปี ผมเสียดายเวลาที่เราพยายามสร้างความเชื่อถือร่วมกันมา จริงๆกลุ่มชาติพันธุ์ที่ถืออาวุธร่วมกันไม่ได้รับผลกระทบ การที่ทหารพม่าต้องเข้ามายึดอำนาจอีกเพราะข้ออ้างว่าการเลือกตั้งไม่ซื่อสัตย์ แต่เหตุผลลึกกว่านั้นเป็นอย่างไร ผมไม่แน่ใจ” พล.ท.เจ้ายอดศึก กล่าว
ด้าน ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า การรัฐประหารในเมียนมาร์ ทำให้ส่งแรงกระเพื่อมไม่น้อยในพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา โดยเฉพาะจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีพื้นที่ติดกับทั้งรัฐฉานตอนใต้ที่และรัฐคะยาโดยบริเวณทั้ง 3 รัฐดังกล่าวต่างมีกองกำลังชาติพันธุ์หลากหลายกลุ่มประจำการอยู่ กลุ่มหนึ่งที่ยังมีบทบาทสำคัญในพื้นที่ยังติดต่อสื่อสารกับผู้คนในฝั่งเมียนมาร์ผ่านการค้าชายแดนที่เป็นผลประโยชน์สำคัญของผู้นำและกองกำลังในปัจจุบันคือพรรคก้าวหน้าแห่งชาติคะเรนนี หรือ KNPP และยังไม่ได้เซ็นเจรจาหยุดยิงกับทหารเมียนมา กลุ่มนี้มีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำทั้งในพื้นที่ชายแดนตรงข้ามกับอำเภอขุนยวมและเป็นที่เคารพนับถือของผู้ที่อยู่ในศูนย์พักพิงบ้านใหม่ในสอยและแม่สุรินทร์
ดร.บุศรินทร์ กล่าวว่า ก่อนหน้าที่จะมีรัฐประหารในช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 และก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในเดือนพฤศจิกายน 2564 นายพลบีทูเคยเปิดเผยถึงถึงสถานการณ์การเมืองในช่วงนั้นว่า แม้นางอองซานซูจีน่าจะชนะ แต่ความนิยมของนางนั้นลดลงมากในชนกลุ่มน้อย
“นายพลบีทูบอกว่า ชนกลุ่มน้อยไม่เอาแล้วเพราะประชาชนไม่ให้ความเชื่อถือนางออง ซาน ซูจี เนื่องจากไม่สามารถทำตามที่เคยให้ความหวังไว้ได้ ทั้งเรื่องสหพันธรัฐและเรื่องเศรษฐกิจ” นักวิชาการผู้นี้กล่าว
คลิกที่นี่