ที่มา | สกู๊ปหน้า 1 มติชนรายวัน |
---|---|
เผยแพร่ |
ไม่จบโดยง่าย ซ้ำส่อแววบานปลายยิ่งขึ้นทุกที สำหรับกรณี “กะเหรี่ยงบางกลอย” ซึ่งเมื่อ 22 กุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี นำเฮลิคอปเตอร์ขึ้นไปขนย้ายชาวบ้านลงมาดำเนินคดีเปรียบเทียบปรับมากกว่า 10 ราย ภายใต้ยุทธการ “พิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร” ทั้งที่ตัวแทนภาครัฐระดับรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง และอธิบดี เพิ่งจรดปากกาลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมกับภาคประชาชน
ได้แก่ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม หรือ “พีมูฟ” ภาคีเซฟบางกลอย และกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย เมื่อ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
โดยมีข้อเรียกร้องเร่งด่วน 3 ข้อ ข้อเสนอเพื่อนำไปสู่ทางแก้ปัญหา 6 ข้อ เนื้อหาสำคัญคือเลิกคุกคามชาวบ้าน 36 ครอบครัว ราว 80 คน ที่เดินเท้ากลับหมู่บ้านบางกลอย-ใจแผ่นดินในเขตอุทยานฯแก่งกระจาน เปิดทางให้กลับไปใช้ชีวิตในวิถีเดิม หลังประสบปัญหาด้านพื้นที่ทำกินและวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงจากการผลักดันของรัฐให้โยกย้ายที่อยู่อาศัย
เมื่อภาครัฐลงนาม ชาวบางกลอยจึงเดินทางกลับบ้านอย่างมีหวัง โดยไม่รู้ล่วงหน้าว่าสุดท้ายจะโดนกวาดลงมาให้เซ็นเอกสารที่ตัวเองแทบอ่านไม่ออก ส่งผลให้แฮชแท็ก #saveบางกลอย กลับมาอีกครั้ง
พร้อมเปลวไฟลุกโชนจากหุ่นฟางแปะภาพใบหน้า วราวุธ ศิลปอาชา รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ลานหอศิลป์กรุงเทพฯ แยกปทุมวัน องค์กรและหน่วยงานหลายแห่งแถลงประณามความตระบัดสัตย์ของภาครัฐอย่างรุนแรง
ในขณะที่อีกด้าน กลุ่มเซฟแก่งกระจาน ก็เดินทางเข้ากรุง นำโดย สุมล สุตะวิริยะวัฒน์ ประธานชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพชรบุรี เข้ายื่นหนังสือที่ศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ ทำเนียบรัฐบาล คัดค้านบันทึกข้อตกลงข้างต้น โดยอ้างคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดว่าไม่อนุญาตให้ผู้ใดขึ้นไปอยู่อาศัยและดำรงวิถีชีวิต
ส่วนภาครัฐ ออกมาเปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ว่าจากการลงพื้นที่ล่าสุด พบการล่าสัตว์และบุกรุกป่ามากขึ้น โดยมีการใช้บันทึกข้อตกลงเป็นใบเบิกทาง
นี่คือ อีกครั้งที่การต่อสู้ทั้งในสมรภูมิผืนป่าและสงครามทางความคิดได้ปะทุขึ้นบนเส้นทางที่ยาวนาน นับแต่ภาครัฐมีความพยายามผลักดันคนออกจากป่าใน พ.ศ.2539 โดยกะเหรี่ยงที่หมู่บ้านใจแผ่นดินถูกอพยพลงมาที่บ้านโป่งลึก-บางกลอยล่าง
อ่านข่าว : เผาหุ่น ‘วราวุธ’ ไฟลุกโชนหน้าหอศิลป์ อธิษฐาน 1 นาที สาปส่งรัฐบาลทำร้ายชาวบางกลอย
– ‘คนเมืองเพชร-กลุ่มเซฟแก่งกระจาน’ จี้นายกฯแก้ปัญหาตาม กม.-คำพิพากษา ขู่รวมตัวบุกทำเนียบ
กระทั่งถึงเกิดเหตุการณ์สำคัญที่เรียกต่อมาว่า “ยุทธการตะนาวศรี” เมื่อ พ.ศ.2554 ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ไล่รื้อและเผายุ้งฉาง บ้านเรือนของชาวปกากะญอ หรือกะเหรี่ยงที่ยังอยู่ในหมู่บ้านใจแผ่นดิน 98 หลังคาเรือน ภายใต้ข้อหารุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ทั้งที่ปรากฏหลักฐานในแผนที่ของกรมแผนที่ทหารมาตั้งแต่ พ.ศ.2455 ตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ว่ามีชุมชนนี้อยู่ในป่าแห่งนี้มาก่อนแล้ว
ต่อมา ในปี 2557 บิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ พยานฟ้องคดีเอาผิดภาครัฐจากกรณีดังกล่าวหายตัวไป กระทั่ง พ.ศ.2562 พบหลักฐานว่า
บิลลี่ถูกฆ่าและเผา โดย 1 ปีก่อนหน้าพบเศษกระดูกบิลลี่ในถังน้ำมัน ศาลปกครองสูงสุด อ่านคำพิพากษาเมื่อ 12 มิถุนายน 2561 ว่าการกระทำของรัฐซึ่งบุกไปเผาทำลายทรัพย์สินชาวบ้าน “ไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ทั้งยังยอมรับว่าบ้านบางกลอยบนและใจแผ่นดินถือเป็น ชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของปกากะญอ หรือกะเหรี่ยง โดยศาลปกครองสูงสุดได้นำมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553 เรื่อง แนวนโยบายในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง มาใช้ประกอบการวินิจฉัยการละเมิดของเจ้าหน้าที่
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจคือ ศาลฯระบุว่า ผู้ฟ้องคดีไม่มีสิทธิกลับคืนใจแผ่นดิน เพราะอยู่ในเขตอุทยานฯและผู้ฟ้องคดีไม่มีหลักฐานแสดงการอนุญาตจากทางราชการ
และนี่คือสิ่งที่กลุ่มเซฟแก่งกระจานหยิบยกมาอ้างอิงเพื่อจี้รัฐให้ผลักดันกะเหรี่ยงบางกลอยให้พ้นแก่งกระจานอีกครั้ง
ประเด็นนี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน เคยให้ความเห็นไว้ตั้งแต่ศาลฯตัดสินใหม่ๆ ว่าแม้ศาลปกครองสูงสุดจะยอมรับว่าใจแผ่นดินคือชุมชนดั้งเดิมของชาติพันธุ์กะเหรี่ยง แต่ก็ไม่อาจจะพิพากษาให้ชาวกะเหรี่ยงดั้งเดิมกลับไปอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านกฎหมาย เพราะพื้นที่พิพาทดังกล่าวถูกประกาศให้เป็นเขตอุทยานแห่งชาติไปแล้ว และชาวบ้านก็ไม่มีเอกสารมาแสดงว่าได้รับอนุญาตจากทางราชการให้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ดังนั้น โจทย์สำคัญของการแก้ปัญหานี้คือ คนกับป่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร
“ขอให้เลิกวาทกรรมโลกสวย ป่าต้องมีแต่สีเขียวของต้นไม้ ต้องการป่าบริสุทธิ์ ละเลยความเป็นมนุษย์” คือมุมมองของ ณัฐวุฒิ อุปปะ ตัวแทนภาคีเซฟบางกลอยที่เน้นย้ำว่า คนต้องอยู่ร่วมกับป่าได้ พร้อมเปรียบเทียบอายุสมัยของชุมชนบางกลอย-ใจแผ่นดินที่เก่าแก่กว่าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเสียอีก
“ใจแผ่นดิน มีหลักฐานการมีอยู่ตั้งแต่ พ.ศ.2455 ในขณะที่เพิ่งประกาศอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อ พ.ศ.2524 นี้เอง การกลับใจแผ่นดินคือความชอบธรรม แต่มีการใส่ร้ายว่าพวกเขาไม่ใช่คนไทย ทั้งที่มีบัตรประชาชน มีการกล่าวอ้างว่าถูกบุกรุก ทั้งที่คนบุกรุกคืออุทยานแห่งชาติ ชาวบ้านไม่ได้กลับไปบุกรุก แต่กลับไปในพื้นที่เดิมที่เขาเคยอยู่ นี่คือความบิดเบี้ยวของการจัดการด้านที่ดินของไทย” ณัฐวุฒิกล่าว
ในขณะที่ ดร.สุรินทร์ อ้นพรม อดีตอาจารย์ภาควิชาการจัดการป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ย้ำว่ารัฐต้องปรับตัว ทบทวนการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ให้สอดคล้องกับบริบทความซับซ้อน และความเป็นพหุวัฒนธรรม
“ถึงเวลาต้องทบทวนการจัดการอุทยานแห่งชาติ รูปแบบเดียวทั่วประเทศยังใช้ได้อยู่หรือเปล่า”
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : “ใจแผ่นดินคือความบิดเบี้ยวในการจัดการที่ดินของประเทศ” คำต่อคำ ณัฐวุฒิ อุปปะ ภาคีSaveบางกลอย
ส่วนประเด็นที่กลุ่มชาติพันธุ์ถูกเพ่งเล็งเสมอมาว่าเป็นผู้ทำลายป่าด้วยการเผาทำลาย ดร.สุรินทร์ ยกตัวอย่างการทดลองทางวิทยาศาสตร์ที่มีการศึกษาอย่างเป็นระบบว่า ในพื้นที่ซึ่งมีการทำไร่หมุนเวียน พื้นที่ป่าลดลงหรือไม่ ดินพังทลาย หรือสูญเสียหน้าดินมากน้อยแค่ไหน ธาตุอาหารในดินเปลี่ยนแปลงอย่างไร
“ปี 2547 มีการทดลองที่นำโดยเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ ร่วมกับคณะสังคมศาสตร์ ม.เชียงใหม่ พบว่าหลังจากเผา ธาตุอาหารเพิ่มมากขึ้น ข้อมูลที่ได้คือ ธาตุฟอสฟอรัส เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ส่วนความหลากหลายของพืชในไร่หมุนเวียน มีการเข้าไปสำรวจ ซึ่งได้เห็นการทดแทนของพืชชนิดต่างๆ ทั้งชนิดที่ชาวบ้านสามารถใช้ประโยชน์ได้ด้วย บางชนิดเป็นประโยชน์ต่อสัตว์ป่า” นักวิชาการวนศาสตร์กล่าว
สำหรับยุทธการพิทักษ์ป่าต้นน้ำเพชร สุนี ไชยรส อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มองว่า การไปจับชาวบ้าน เป็นการใช้อำนาจอย่างป่าเถื่อน
“วันนี้รัฐบาลตระบัดสัตย์ต่อการเจรจา หลอกให้ชาวบ้านกลับไป มีการตั้งคณะทำงาน แต่ยังไม่ทันทำงานก็ส่งเฮลิคอปเตอร์ไปจับ ทั้งที่ชาวบางกลอยไม่ได้รับความเป็นธรรมมาอย่างยาวนาน ขอยืนยันว่าเราไม่ได้สนับสนุนคนรุกป่า เพราะเขาอยู่มาก่อน รัฐบาลกลับปกป้องคนที่ทำผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก ตั้งแต่ปู่คออี้ยังอยู่ มาจนถึงวันนี้ รัฐบาลควรแก้ปัญหา แต่ไม่แก้ กลับทำผิดซ้ำซาก” สุนีกล่าว พร้อมย้ำว่า
นี่คือสิ่งที่รัฐควรสำนึก