สยามรัฐออนไลน์
4 มีนาคม 2564 09:25 น.
เศรษฐกิจ
กระทรวงพาณิชย์
นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผย ในโอกาสให้เกียรติเป็นประธานในพิธีการเปิดการอบรมโครงการพัฒนาอัตลักษณ์ ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์ ห้องเรย์ โรงแรมเรย์โฮเทล จังหวัดบุรีรัมย์ ว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทย โดยเป็น สินค้าซึ่งติดอันดับ 1 ใน 3 รายการสินค้าส่งออกหลักที่นำรายได้เข้าประเทศ ก่อให้เกิดเม็ดเงิน หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจเกือบหนึ่งล้านล้านบาท) ซึ่งประกอบด้วย ผู้ประกอบการที่เป็น SMEs กระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 12,500 แห่ง ยังไม่รวมกิจการ ในครัวเรือนอีกจำนวนมาก ทำให้เกิดการจ้างงานตลอดห่วงโซ่อุปทานนับล้านคน สร้างและกระจายรายได้ ให้แก่ช่างฝีมือและผู้ประกอบการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค
บุรีรัมย์ได้ชื่อว่า จังหวัดที่ที่มีความโดดเด่นทั้งด้านศิลปะขอม ซึ่งจะเห็นได้จากแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ที่สำคัญของประเทศ อีกทั้งยังเป็นที่รู้จักในฐานะเมืองกีฬามาตรฐานโลก ซึ่งมีสนามช้างอารีนา ทีมฟุตบอลปราสาทสายฟ้า สนามแข่งรถมาตรฐานโลก อีกทั้งยังเป็นเมืองเกษตรกรรมและหัตถกรรม จนทำให้เป็นที่รู้จักดังคำขวัญที่ว่า “เมืองปราสาทหิน ถิ่นภูเขาไฟ ผ้าไหมสวย รวยวัฒนธรรม เลิศล้ำเมืองกีฬา” ซึ่งถือได้ว่าเป็นอีกเมืองหนึ่งที่มี
ศักภาพ และมั่นใจว่าผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับของบุรีรัมย์ จะนำแรงบันดาลใจเหล่านี้มาสร้างสรรค์พัฒนาต่อยอดในการออกแบบเครื่องประดับ และสามารถก้าวเข้าสู่ตลาดการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกได้อย่างแน่นอน โดยมอบหมายให้ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้เข้าไปบูรณาการและดำเนินการร่วมกับท้องถิ่นเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการ GIT ได้เสริมว่า โครงการพัฒนาอัตลักษณ์ ยกระดับเครื่องประดับอีสานใต้ ก้าวไกลโกอินเตอร์ (อีสานมอร์เดิ้น) เป็นการต่อยอดโครงการที่สถาบันได้ลงพื้นที่ 5 จังหวัดอีสานใต้ อันประกอบด้วย จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ช่างฝีมือและผู้ประกอบการทั้งในภูมิภาค ที่มุ่งเน้นความสามารถในการพัฒนาด้านเทคนิคการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์ เพิ่มการเข้าถึงช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ อันจะนำไปสู่การสร้างรายได้ให้ชุมชนพึ่งตัวเองได้ในระยะยาวต่อไป โดยคาดว่าจะมีผู้สนใจเข้าร่วมอบรมไม่น้อยกว่า 200 คน และสถาบันจะคัดเลือกผู้ประกอบเหลือเพียง 20 ราย มาสร้างสรรค์ผลงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ และนักออกแบบแถวหน้าของประเทศ เพื่อพัฒนา และออกแบบเครื่องประดับต้นแบบที่มาจากแนวคิดสร้างสรรค์ และอัตลักษณ์ของ “อีสานใต้” อย่างแท้จริง พร้อมขยายสู่สากล