นายวีรศักดิ์ หวังศุภกิจโกศล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (GIT) ลงพื้นที่พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาค ทั้งในด้านการพัฒนาคุณภาพบุคลากร การพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ ตลอดจนถึงการพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ และสามารถสร้างรายได้ให้ผู้ประกอบการท้องถิ่น ต่อจากปี 2563 ที่เร่งให้สถาบันลงไปพัฒนาเครื่องประดับชนเผ่า เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมแห่งดินแดนอีสานใต้ (อีสานเดิ้น) ประกอบด้วย นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี ซึ่งมีส่วนช่วยให้เกิดการกระจายรายได้ให้แก่ช่างฝีมือและผู้ประกอบการทั้งในภูมิภาค เช่น ท้องถิ่นในโคราช นำดินด่านเกวียนมาออกแบบเป็นเครื่องประดับ สู่การต่อยอดโครงการเครื่องประดับอีสานใต้สู่สากล (อีสานมอร์เดิ้น)
“ในปี 2564 เน้นพัฒนาด้านเทคนิคการผลิตและการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างแบรนด์ เพิ่มการเข้าถึงช่องทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ ทิสร้างรายได้ให้ชุมชนพึ่งตัวเองได้ในระยะยาว”
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบัน GIT กล่าวว่า สำหรับโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการในภูมิภาค (Gems Treasure) ถือเป็นโครงการสำคัญของสถาบันที่ได้ลงไปบูรณาการร่วมกับส่วนงานต่างๆ ปัจจุบันลงพื้นที่ไปแล้วกว่า 15 จังหวัด โดยพัฒนาคุณภาพบุคลากร พัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการพัฒนาช่องทางการตลาดใหม่ๆ สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น และมีผลลัพธ์ที่น่าพอใจ ในปี 2563 ได้ดำเนินโครงการอีสานเดิ้น ซึ่งมีผู้ประกอบการฝึกอบรม 417 ราย และได้คัดเลือกผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจนเหลือ 20 ราย จาก 5 จังหวัด เพื่อมาทำงานร่วมกับนักออกแบบมืออาชีพ เกิดเป็นเครื่องประดับร่วมสมัยที่แสดงถึงอัตลักษณ์แห่งท้องถิ่นถึง 5 คอลเลคชั่น
นอกจากการเรียนการสอนในระบบปกติ และการอบรมผ่านระบบออนไลน์แล้ว สถาบันได้พัฒนาแอพลิเคชั่นที่ปรึกษา โดยใช้ชื่อว่า “CARAT” (กะรัต) เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการและผู้สนใจในภูมิภาคได้สอบถามข้อมูลเกี่ยวกับอัญมณีและเครื่องประดับ โดยสถาบันจัด กูรู ที่มีความรู้ทั้งด้านอัญมณี โลหะมีค่า และการออกแบบ พร้อมให้บริการอย่างครบวงจร แพลตฟอร์มให้คำปรึกษาด้านอัญมณีและเครื่องประดับโดยเฉพาะตลอด
24 ชั่วโมง