นอกจากการลงทุนในธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ เทคโนโลยี และดิจิทัล โดยการถือหุ้น และเข้าไปบริหารงาน (holding company) เพื่อสร้างมูลค่าอย่างยั่งยืนแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มแล้ว
อีกบทบาทหนึ่งของ “อินทัช” คือการทำงานด้านพัฒนาเยาวชน และชุมชน ผ่านโครงการต่าง ๆ อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการพัฒนายั่งยืน โดยนำทรัพยากร ความเชี่ยวชาญขององค์กรมาสร้างให้เกิดประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในการคิดและทำกิจกรรมเพื่อสังคม
สำหรับปีนี้ก็เช่นกัน อินทัชคงยังมีแผนจะพัฒนาโครงการเดิมที่ทำอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการข้าวเพื่อสุขภาพ รวมถึงโครงการจินตนาการ สืบสานวรรณกรรมไทยกับอินทัชที่จัดมา 14 ปี พร้อมกับตั้งเป้าลงพื้นที่ชุมชนใหม่ ๆ เพื่อพูดคุยกับคนที่หลากหลายในการหาเพนพอยต์มาเป็นแนวทางการพัฒนาสังคมยั่งยืน
เบื้องต้น “รัชฎาวรรณ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา” ผู้อำนวยการสำนักประชาสัมพันธ์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิสัยทัศน์ด้านความยั่งยืนของอินทัชมุ่งพัฒนา และสร้างคุณค่าให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นผู้ถือหุ้นและนักลงทุน คู่ลงทุน พนักงาน หน่วยงานภาครัฐ และกำกับดูแล สถาบันการเงิน สังคม ชุมชน คู่ค้า เป็นต้น
โดยกรอบการพัฒนายั่งยืนของอินทัช แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
หนึ่ง การลงทุนเพื่อสร้างผลกระทบอย่างยั่งยืน ซึ่งมีหน่วยงานการพัฒนาเศรษฐกิจขององค์กร เช่น new business, venture capital (VC) ที่จะดูเรื่องการเติบโต และเป้าหมายองค์กรเพื่อสร้างมูลค่าตอบแทนผู้ถือหุ้น
สอง การพัฒนาทุนมนุษย์ โดยเฉพาะพนักงานอินทัช เราจะโฟกัสให้พนักงานได้ค่าตอบแทน และสวัสดิการที่เป็นธรรม ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพ ให้โอกาสเรียนรู้ทักษะใหม่ ๆ ซึ่งบางคนอาจโฟกัสเรื่องการเงินการลงทุน (investment finance) หรือเทคโนโลยี เพื่อปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ทั้งยังให้พนักงานมีโอกาสร่วมคิด เสนอไอเดีย และทำโครงการจิตอาสาเพื่อสังคมด้วยตนเอง โดยบริษัทสนับสนุนงบประมาณให้
สาม การลงทุนทางสังคม ตรงนี้จะโฟกัสอยู่ 2 ด้าน คือ การส่งเสริมศักยภาพการเรียนรู้ของเยาวชนและชุมชน เพื่อให้มีโอกาสเข้าถึงความรู้และเทคโนโลยีตามความเหมาะสม รวมถึงเข้าถึงสิ่งที่ทำให้ตัวเขามีทักษะหรือความสามารถ หรือมีแนวทางการดำรงชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิม
ส่วนอีกด้าน คือ การสนับสนุนการพัฒนาปัจจัยพื้นฐานสำคัญของประเทศ เช่น การผลักดันโครงการเกษตร, การส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ด้วยการให้ทำเกษตรแบบไร้สารเคมี สร้างแบรนด์ด้วยตนเอง เพื่อให้มีรายได้เพิ่ม มีตลาดเอง ขายได้ด้วยตนเอง พร้อมส่งเสริมให้ขยายผลความรู้ไปยังที่อื่น ๆ
“รัชฎาวรรณ” ยกตัวอย่างโครงการข้าวเพื่อสุขภาพ พร้อมกับฉายภาพรวมผลดำเนินงานว่าเป็นการลงทุนทางสังคมที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง หลังจากทำโครงการมาตั้งแต่ปี 2555 ใน 7 พื้นที่ ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนกลุ่มปลูกข้าวเพื่อสุขภาพบ้านดักคะนน ต.ธรรมามูล อ.เมือง จ.ชัยนาท, เรือนจำชั่วคราวโคกตาบัน สังกัดเรือนจำกลางสุรินทร์ ต.นอกเมือง อ.เมือง จ.สุรินทร์
วิสาหกิจชุมชนปลูกข้าว เพื่อสุขภาพแก่นฝาง ต.บ้านฝาง อ.กระนวน จ.ขอนแก่น, วิสาหกิจชุมชนกลุ่มทำนาบ้านป่าไหม้ ต.ป่าไหม้ อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช, วิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา ต.ดอนแสลบ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี, เครือข่ายวิสาหกิจชุมชนท่างามแสนสุข ต.ท่างาม อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก และวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนตำบลนาซ่าว อ.เชียงคาน จ.เลย
“โดยหลักการทำงานแบ่งออกเป็น 2 ขั้น โดยขั้นแรกเป็นการเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้าน ให้ความรู้ในการปลูกข้าว และทำเกษตรแบบไร้สารเคมีว่ามีข้อดี หรือจะช่วยทำให้มีรายได้เพิ่มอย่างไร รวมถึงสภาพร่างกาย สภาพแวดล้อมดีขึ้นอย่างไร”
“ขั้นที่สองส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มเป็นวิสากิจชุมชน มีเครือข่าย บริหารจัดการในชุมชนด้วยกันเอง หาจุดเด่นต่อยอด และเชื่อมต่อกับหน่วยงานข้างนอก มีผลิตภัณฑ์สร้างแบรนด์ของตนเอง มีช่องทางการขาย ทำให้เขาเติบโตเป็นเอสเอ็มอีขนาดย่อม”
“ปัจจุบันพื้นที่ทั้ง 7 พัฒนาไปสู่ขั้นที่สองเรียบร้อยแล้ว เช่น วิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา จ.กาญจนบุรี ได้เข้าร่วมโครงการตั้งแต่ปี 2559 เมื่อก่อนเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ไม่มีคลองชลประทาน ปริมาณน้ำฝนน้อย แต่ในปัญหาดังกล่าวกลับพบว่าข้าวหอมมะลิเป็นพืชผลที่เหมาะกับพื้นที่ เพราะทำให้ข้าวมีรสชาติดีและมีกลิ่นหอม จากนั้นอินทัชร่วมกับภาครัฐส่งเสริมชุมชนให้รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจชุมชนหอมกระเจา ให้ปลูกข้าวแบบไร้สารเคมี ทำให้ต้นทุนการปลูกข้าวลดลงเฉลี่ยต่อไร่ 50% สามารถผลิตข้าวที่ปลอดภัยได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP”
“ผลลัพธ์คือจากเดิมเคยขายกิโลกรัมละ 20 บาท แต่ตอนนี้ขายได้แพ็กละ 60-80 บาท ทั้งยังต่อยอดผลิตภัณฑ์ที่เป็นแบรนด์ของชุมชนเอง จากข้าว 1 กก.จนกลายเป็นสินค้าเพื่อสุขภาพ เช่น น้ำส้มสายชูหมักจากข้าวหอมมะลิ (Jasmin Rice Vinegar), เครื่องดื่มน้ำส้มสายชูหมักผสมน้ำเมล่อน (Melon Vinegar Drink) จนทำให้ส่วนต่างกำไร (profit margin) เพิ่มขึ้น 100% และตอนนี้กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่ผู้สนใจมาศึกษาดูงานด้านสิ่งแวดล้อมและเป็นแหล่งท่องเที่ยวชุมชนแล้ว”
“รัชฎาวรรณ” บอกว่า อินทัชจะทำงานกับชุมชนทุกแห่ง 2-3 ปีเท่านั้น จนเมื่อบริหารจัดการได้ด้วยตนเองแล้ว จากนั้นจึงมาเป็นพี่เลี้ยง คอยติดตามผลและตอนนี้ทุกพื้นที่จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชนหมดแล้ว อีกทั้งยังมีช่องทางการขายผ่านเฟซบุ๊ก ตรงนี้ยังถือเป็นเรื่องใหม่เพราะเมื่อปี 2563 ที่ผ่านมาอยู่ในช่วงที่เราส่งเสริมให้ชุมชนใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางขายจริงจัง จนพบว่าเริ่มมีผู้ติดตาม มีแอ็กทีฟการซื้อขายมากขึ้น
“ในอนาคตเรามองว่าถ้าหากช่องทางนี้แข็งแรง จะเอาเฟซบุ๊กเหล่านั้นมารวมในหน้าแพลตฟอร์มของเรา รวมกันเป็นมาร์เก็ตเพลซ เพื่อให้คนทั่วไป และพาร์ตเนอร์ขององค์กรต่าง ๆ ติดต่อกับวิสาหกิจชุมชนได้โดยตรง จนทำให้คิดว่ากุญแจความสำเร็จของแต่ละชุมชน ไม่ใช่มองแต่ปัญหาในชุมชนอย่างเดียว แต่ต้องมองเห็นความต้องการของชุมชนด้วย ฉะนั้น ต้องพูดคุย และคลุกคลีกับชุมชน เพื่อให้ได้เพนพอยต์ และความต้องการออกมาเป็นข้อ ๆ”
“เพราะถ้าเราทำได้ตรงจุด จะทำให้มีการวางแผนอย่างถูกต้อง และตรงตามกับสิ่งที่เขาต้องการ บวกกับการเปิดโอกาสให้พวกเขาคิดแล้วทำด้วยตนเอง มีปัญหาก็ค่อย ๆ แก้กันไป เราก็จะได้ดึงคนที่เกี่ยวข้องมาร่วมสนับสนุน และให้ความรู้ด้วย เพราะอินทัชไม่ได้เก่งเรื่องข้าว เราต้องติดต่อคนเก่งเรื่องข้าวมาเป็นพี่เลี้ยงให้ชุมชนเรียนรู้ด้วยตนเอง ที่สำคัญ ชุมชนต้องมีความซื่อสัตย์ด้วย เพราะการทำเกษตรไร้สารเคมี เราจะเน้นย้ำกับชุมชนว่าต้องมีความซื่อสัตย์ ถึงจะอยู่ได้นานต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ การเสริมศักยภาพเยาวชนผ่านโครงการจินตนาการสืบสานวรรณกรรมไทยกับอินทัช ก็เป็นอีกโครงการที่มีผลลัพธ์น่าพอใจ เพราะทำมาแล้ว 14 ปี ส่งเสริมให้เด็กรักการอ่านแล้วคิดวิเคราะห์ผนวกกับความคิดสร้างสรรค์ จนนำเสนอเป็นภาพศิลปะเพื่อกระตุ้นการพัฒนาความคิดของเด็ก ๆ
ซึ่งเมื่อได้ผลงานแล้วจะมีการจัดนิทรรศการ มีการประมูลภาพ โดยรายได้ทั้งหมดจะสมทบทุนมูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เพื่อเป็นทุนการศึกษาของนักเรียนที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อันเป็นโครงการของมูลนิธิที่ทำมาทุกปี
สำหรับปีนี้เนื่องจากสถานการณ์โควิดจึงมีการปรับรูปแบบมาทำออนไลน์ มีการประกวด เวิร์กช็อปผ่านออนไลน์ และจัดนิทรรศการ virtual exhibition พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถชมและเลือกซื้อภาพการกุศลผ่านระบบได้ทางเว็บไซต์อินทัช
สำหรับทิศทางซีเอสอาร์ ปี 2564 “รัชฎาวรรณ” บอกว่า อินทัชวางหลักการทำงานออกเป็น 6 ข้อ คือ
หนึ่ง สถานการณ์ค่อนข้างใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา คือเผชิญกับโควิด-19 ระบาด ฉะนั้น สิ่งที่เคยทำยังคงต้องดำเนินต่อไป เช่น การหากลุ่มเป้าหมายในสังคม คน ชุมชนต่าง ๆ และเพนพอยต์ความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย แล้ววางแผนทำงาน
สอง ศึกษา พูดคุยกับคนหลากหลายขึ้น อย่างเช่น ปลายปี 2563 เราทำเวิร์กช็อปเล็ก ๆ กับกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือกลุ่มนักศึกษา เพื่ออยากรู้ว่าในมุมของเด็กรุ่นใหม่ ถ้ามีโอกาสได้ช่วยเหลือสังคม อยากจะทำอะไร
เพราะคนเหล่านี้จะเป็นกำลังสำคัญของประเทศในอนาคตหลายคนบอกว่าทำอะไรก็ได้ที่จะทำให้ชีวิตของเขามั่นคง อาชีพมั่นคง ดูแลตนเองได้บางส่วนบอกอยากใช้เทคโนโลยีนวัตกรรมสมัยใหม่ที่มีอยู่เอาไปช่วยขับเคลื่อนสังคมเศรษฐกิจให้เร็วขึ้น รวมถึงการพูดคุยกับชาวบ้าน หรือกลุ่มชาวนา วิสาหกิจเล็ก ๆ เพื่ออยากเห็นความมั่นคงในอาชีพของเขา
สาม ทำอะไรต้องสอดคล้องกับแนวทางของภาครัฐด้วย ไม่ใช่ไปคนละทาง เช่น ภาครัฐอย่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเน้นเรื่องของการตลาดนำการผลิต เน้นการตลาดภายในชุมชนให้คนยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง โครงการข้าวก็ต้องยึดหลักนี้มากขึ้น
สี่ ดูศักยภาพของบริษัทในฐานะที่เป็นโฮลดิ้ง หรือมีบริษัทในเครือที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี หรือดิจิทัล เราสามารถที่จะนำมาประยุกต์ใช้กับงานในโครงการอะไรได้บ้าง มากน้อยแค่ไหน
ห้า การมีส่วนร่วมกับพนักงาน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็ต้องทำให้เกิดการมีส่วนร่วมในการคิด ทำกิจกรรมขับเคลื่อนไปด้วยกัน
หก การวัดผล ก่อนทำโครงการแต่ละอย่างต้องมีการตั้งเป้าหมายเอาไว้ ฉะนั้น จากนี้เราต้องวัดผลว่าโครงการทั้งหมดที่ทำ เป็นไปตามเป้าที่ตั้งไว้หรือไม่อย่างละเอียดที่สุด และค่อยวางแผนต่อว่าจะทำอย่างไร
จึงนับเป็นก้าวต่อไปที่อินทัชจะขับเคลื่อน เพราะสุดท้าย “รัชฎาวรรณ” บอกว่า การทำโครงการต่าง ๆ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในแผนพัฒนายั่งยืนคือหน้าที่ของภาคธุรกิจ และสังคมจะต้องเติบโต และมั่นคงไปพร้อมกับธุรกิจ