8 เมษายน 2564 ชาวบ้านบ้านกะโงก ม.3 ต.สะเดา อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ ร้องเรียนทีมข่าวว่าได้รับความเดือดร้อนจากการใช้น้ำประปาหมู่บ้าน ที่มีค่าจัดเก็บยูนิต ละ 7 บาท แต่น้ำประปาที่ได้ใช้คือมีสีขุ่นขาวเหมือนน้ำโคลนสีชานม เป็นเช่นนี้มานานนับ 10 ปีแล้ว ชาวบ้านผู้ใช้บางคนมีอาการแพ้มีตุ่มคัน น้ำไม่สะอาด มีกลิ่นเหม็น เกิดอาการแพ้ คัน ผื่นขึ้นตามตัว ซึ่งใช้อุปโภคบริโภคก็ไม่สนิทใจ กลัวจะมีเชื้อโรค ซักผ้าสีขาวเช่นเสื้อผ้านักเรียนก็จะมีสีเหลืองเป็นคราบ ๆติดที่เสื้อขาว ถ้าบ้านไหนมีเงินก็ซื้อสารส้มมาแกว่ง เพื่อจะได้ใช้น้ำใส วอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โปรดช่วยเข้ามาดูแลแก้ไขให้ด้วย
ทีมข่าวได้เข้าตรวจสอบพบว่า แหล่งน้ำหนองน้ำบ้านกระโงก ที่ระบบประปาหมู่บ้านแบบผิวดินขนาดใหญ่ลักษณะไม่มีการเดินเครื่องการกรองผลิตเป็นน้ำประปา พร้อมกับได้ขึ้นไปดูระบบการกรองสังเกตเห็นว่าน้ำจากหนองน้ำนั้นมีสีขุ่นขาวเหมือนน้ำโคลนสีชานมจริง ซึ่งไม่มีการเดินเครื่องกรองให้กับชาวบ้านเลย จากนั้นน.ส.เพ็ญผกา สว่างแสง ตัวแทนชาวบ้าน ได้เปิดก๊อกน้ำให้ทีมข่าวดูว่าน้ำที่ได้รับจากประปาหมู่บ้านนั้น ออกมาเป็นสีขุ่นขาวเหมือนน้ำโคลนสีชานม เคยแจ้งไปยังกรรมการหมู่บ้านคือนายเอี้ยง ยิ่งดัง ผู้ใหญ่บ้านกระโงก หมู่ 3 ต.สะเดา อ.บัวเชด จ.สุรินทร์ และเป็นประธานคณะกรรมการหมู่บ้าน พร้อมด้วยนายชัย ผิวละออง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเป็นฝ่ายจัดเก็บ แต่ก็ได้รับคำตอบว่าไม่มีงบประมาณที่จะมาทำ ซึ่งต้องใช้งบประมาณหลายล้าน จึงอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาดูแลและแก้ไขให้ด้วย
- ส่งทีมอสม.พร้อม 4 ทหารเสือเคาะประตูบ้านคุมเข้มโควิด-19
- พบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อโควิดระลอกใหม่ 1 ราย
- โควิดอุดรพบเพิ่มอีก10 รายจากทองหล่อ-รัชดา-เชียงใหม่
น.ส.เพ็ญผกา สว่างแสง ตัวแทนชาวบ้าน กล่าวว่า โครงการประปาหมู่บ้านแบบผิวดินขนาดใหญ่ นั้น ไม่มีการแก้ไขจะให้แต่ชาวบ้านซื้อสารส้มมาแกว่งเองก็ไม่ได้ ส่วนเครื่องสูบน้ำในปัจจุบัน ชำรุดเสียหายบ่อยครั้ง ไม่มีการจัดสรรซื้อเครื่องใหม่ทั้งๆ ที่งบประมานที่เก็บจากการใช้น้ำของชาวบ้านก็มีเพียงพอที่จะซื้อใหม่ได้ แต่ก็ไม่จัดสรรซื้อ ไม่เคยบำรุงรักษาแต่อย่างใด ตนเคยบอกกับผู้ใหญ่บ้านหลายครั้งแล้ว แต่ไม่เกิดผล ชาวบ้านบางบ้านที่มีเงินก็หันมาเจาะบ่อบาดาลเพราะน้ำประปาใช้ไม่ได้ ตนไม่รู้จะพึ่งใครจึงได้ร้องมายังสื่อมวลชนให้เป็นกระบอกเสียงอีกทางเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาช่วยเหลือชาวบ้านที่ทนทุกข์มานานนับ 10 ปี
ส่วน น.ส.สายพิญ บุญสิงห์ ชาวบ้านผู้ใช้น้ำ เล่าว่า น้ำประปาในหมู่บ้านเกิดตะกอนสีขุ่นเหมือนกับชานมและมีกลิ่น ซักผ้าก็มีคราบติดกับเสื้อผ้า บางรายอาบน้ำจะมีอาการผื่นขึ้นตามตัวทั้งแขนและเท้าจนกลายเป็นหนอง จึงพาไปหาหมอ หมอบอกว่าเกิดจากอาการเป็นภูมิแพ้ และให้ยามากิน และเลิกใช้น้ำประปาหมู่บ้านต้องซื้อน้ำถังมาใช้ อาการทุกอย่างก็หาย ทุกวันไม่จำเป็นจะไม่ใช้น้ำประปาหมู่บ้านอีกเลย ถ้าเป็นแบบนี้และไม่มีการแก้ไข ตนขอวิงวอนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาช่วยชาวบ้านด้วย และขอวิงวอนถึงหน่วยงาน สาธารณะสุข จังหวัดสุรินทร์ ช่วยให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบดูน้ำให้หน่อย ชาวบ้านเดือดร้อน
ด้านนายชัย ผิวละออง ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน เป็นฝ่ายจัดเก็บ กล่าวว่า น้อมรับกับการที่ลูกหลานนั้นมีความเดือดร้อนในเรื่องน้ำขุ่นน้ำไม่ใส แต่ในแนวทางของผมก็พยายามที่จะหาหน่วยงานราชการแล้วก็หน่วยงานที่มีงบประมาณมาช่วยผลักดันตรงนี้ด้วย ก็อยากจะฝากกับหน่วยงานที่ว่ามีงบประมาณมาช่วยดูแลเรื่องน้ำขุ่นเพราะมันขุ่นมาโดยกำเนิด ทางเราก็ดูแลได้แค่นี้ เพราะว่างบประมาณเราไม่มี ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เข้ามาดูแลและแก้ไขปรับปรุงให้ด้วยเพราะทางเราไม่มีงบประมาณ ยืนยันว่า ทางคณะกรรมการประปาก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ ได้ทราบเรื่องจากทางเฟซบุ๊กที่ชาวบ้านนำไปโพสต์ ก็ได้ทำหนังสือของบประมาณมาให้ช่วยแก้ไข แต่งบประมาณนั้นมันหลายล้านก็ยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่ทางตนยื่นร้องขอ ทางคณะกรรมการไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร จึงจำเป็นต้องปล่อยน้ำให้กับชาวบ้านนั้นใช้ ที่จะมีการร้องนั้นก็มาจากลูกหลานที่อยู่กรุงเทพฯร้อง
นายเอี้ยง ยิ่งดัง ผู้ใหญ่บ้านกระโงก กล่าวว่า อันดับแรกเราได้ปรับสภาพแวดล้อมโดยการเสนอโครงการ คือ โครงการขุดลอก, ผันน้ำเข้าสระหนองปรือ เราก็ได้มีลายลักษอักษรของโครงการที่เสนอเข้าแผนของหมู่บ้านของ อบต.สะเดา และก็ของอำเภอบัวเชด เข้าจังหวัดตามยุทธศาสตร์ ซึ่งทางหมู่บ้านได้พัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวของชุมชน และทางเราก็มีการประชุมทุกเดือนโดยให้ผู้รับผิดชอบในส่วนของน้ำประปาพยามแก้ไข การที่จะแก้ไขปัญหาในส่วนนี้ต้องใช้การขุดลอก แต่การขุดลอกจะต้องใช้งบประมาณ ๆ 10-15 ล้าน ในเนื้อที่ 50 ไร่ 3 งาน 78 ตารางวา เพราะฉนั้นอยากจะขอฝากในส่วนของราชการผู้มีส่วนเกี่ยวข้องช่วยประสานงานแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของลูกหลาน เพื่อให้มีน้ำที่อุปโภคบริโภคที่มีน้ำใสสามารถใช้อุปโภคบริโภคได้
เรื่องโดย วิจิตร ชุณหกิจขจร | ภาพโดย วิจิตร ชุณหกิจขจร