พรรคเพื่อไทย หัวขบวนฝ่ายค้าน เตรียมรับมือสถานการณ์อ่อนไหวทางการเมืองทุกย่างก้าว
ตั้ง 21 รัฐมนตรีคุมโซนเลือกตั้ง 350 เขตเลือกตั้ง ภายใต้คำสั่ง 0001/2564 ลงนามโดย “สมพงษ์ อมรวิวัฒน์” หัวหน้าพรรค ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร
หลังไวรัสมรณะโควิด-19 ระลอก 3 ทำเอารัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อยู่ในสถานะหวั่นไหว
กลิ่นยุบสภา ล่างไพ่อำนาจเริ่มโชยขึ้นมาเรื่อย ๆ ผสมกับข่าวลวง ข่าวปล่อยแทรกถี่ขึ้นตามจังหวะการเมือง
พ่วงด้วยคำสั่งนายกรัฐมนตรี ที่ 85/2564 มอบหมายให้รัฐมนตรีรับผิดชอบจังหวัดขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันในระดับพื้นที่จังหวัด เปิดทางให้รัฐมนตรีพลังประชารัฐ และพรรคร่วมรัฐบาลได้คุมโซนพื้นที่ฐานเสียงตนเอง
อากัปกิริยาการเมืองดังกล่าวของรัฐบาล คนการเมืองจึงตีความไปไกล ประกอบกับ งบ-เงิน การเมืองเริ่มไหลลงพื้นที่ผ่านรูปแบบงบประมาณเงินกู้ 4.5 หมื่นล้าน และงบท้องถิ่นอีก 7.7 หมื่นล้าน ให้ฐานเสียงได้ใช้จ่าย
ผนวกกับกฎหมายพรรคการเมือง – กฎหมายเลือกตั้ง ที่ล้อกับรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนด “กติกา” ที่เข้มข้น หากคิดจะส่งผู้สมัคร 350 เขต ต้องมีตัวแทนจังหวัด ตัวแทนเขต ผ่านกรรมวิธี “ไพมารี่โหวต”
พรรคเพื่อไทย จึงต้องขยับตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ มิเช่นนั้นจะไม่ทันการณ์ นอกจากให้ ส.ส.ในพื้นที่เฟ้น “ตัวแทนเขตเลือกตั้ง” เสนอชื่อไปยังพรรคให้อนุมัติ
ยังตั้ง ส.ส.ที่มีดีกรีเป็น “อดีตรัฐมนตรี” มีบารมีพอสมควร คุม 21 โซน 350 เขตเลือกตั้ง คอยประสานงานระหว่าง ส.ส.พื้นที่ ส.ส.ที่เป็นประธานโซนโซน และพรรคส่วนกลาง
เปลี่ยนจากบริหารงานรูปแบบเดิม ที่การบริหารพรรคจะแบ่งเป็นภาค แต่ละภาคจะมีประธาน เช่น ประธานภาคเหนือ ประธานภาคอีสาน ประธานภาคใต้ ประธานภาค กทม. คนเดียวคุมทั้งโซน มาคราวนี้แบ่งใหม่เป็น
โซนเหนือบน
ประกอบด้วย จ.เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นฐานที่มั่นของพรรคเพื่อไทย และตระกูลชินวัตร เจ้าของพรรคตัวจริง มีนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเป็นประธาน สายตรงดูไบเป็นประธาน พร้อมด้วยนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล แกนนำเพื่อไทย สายดูไบฝ่ายน้องสาวทักษิณ ชินวัตร เป็นรองประธานช่วยคุมโซน นายไพโรจน์ โล่ห์สุนทร นายวิสุทธิ์ ไชยณรุณ นายชลน่าน ศรีแก้ว เป็นที่ปรึกษา นายสงวน พงษ์มณี เป็นเลขานุการ นายพิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ
โซนเหนือล่าง
ประกอบด้วย จ.นครสวรรค์ พิจิตร กำแพงเพชร เพชรบูรณ์ พิษณุโลก สุโขทัย อุตรดิตถ์ และตาก มี นส.กฤษณา สีหลักษณ์ อดีต รมต.ประจำสำนักนายกฯ ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และแกนนำพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เป็นประธาน นายนิยม ช่างพินิจ เป็นรองประธาน นายทวีศักดิ์ อนรรฆพันธ์ เป็นที่ปรึกษา นายทายาท เกียรติชูศักดิ์ เป็นเลขานุการ
โซนอีสานเหนือ
ประกอบด้วย จ.อุดรธานี หนองคาย บึงกาฬ หนองบัวลำภู เลย สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร มีนายไชยา พรหมา รองหัวหน้าพรรค เป็นประธาน นายเอกธนัช อินทร์รอด เป็นรองประธาน นางมนพร เจริญศรี เป็นเลขานุการ
โซนอีสานกลาง
ประกอบด้วย จ.ขอนแก่น ชัยภูมิ กาฬสินธ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม มีนายศักดา คงเพชร อดีต รมช.ศึกษาธิการ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน นายประยุทธ์ ศิริพาณิชย์ นายเชิดชัย ตันติศิรินทร์ เป็นที่ปรึกษา นางมุกดา พงษ์สมบัติ เป็นเลขานุการ
โซนอีสานใต้ (1)
ประกอบด้วย ยโสธร ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ อุบลราชธานี มีนายเกรียง กัลป์ตินันท์ หัวหน้ามุ้งอีสานใต้เพื่อไทย เป็นประธาน นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล หรือ “เฮียเพ้ง” เป็นที่ปรึกษา
โซนอีสานใต้ (2)
นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ มีนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรค คนสนิท “เฮียเพ้ง” พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล เป็นประธาน นายสมบัติ ศรีสุรินทร์ เป็นที่ปรึกษา นายคุณากร ปรีชาชนะชัย เป็นเลขานุการ
ขณะที่กรุงเทพมหานคร เพื่อไทยจัดการแบ่งเป็น 6 โซน หลังการจากไปของ “คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” เจ้าแม่ กทม.ที่ไปก่อตั้งพรรคใหม่ “ไทยสร้างไทย”
ปรากฏ “แม่ทัพ” คนสำคัญใน กทม. คนใหม่ คือ “เฮียเพ้ง” มือออแกไนซ์ทางการเมืองของ “ทักษิณ ชินวัตร” ควงคู่กับ “เจ๊แจ๋น” พวงเพ็ชร ชุณละเอียด มือธุรการตั้งพรรคไทยรักษาชาติ ผู้มากบารมีฝ่ายหญิงคนใหม่ในเพื่อไทย ไม้เบื่อไม้เมา “เจ้าแม่ กทม.” คนเก่า
ส่อง 6 โซน กทม.ประกอบด้วย โซน 1 เขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ดุสิต ปทุมวัน บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา คลองเตย และวัฒนา มี เฮียเพ้ง” “พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล” เป็นประธาน กิตติ ลิ่มสกุล เป็นที่ปรึกษา
โซน 2 เขตดินแดง ห้วยขวาง พญาไท ราชเทวี จตุจักร บางซื่อ หลักสี่ จตุจักร ลาดพร้าว และวังทองหลาง มี “เจ๊แจ๋น” พวงเพ็ชร ชุณละเอียด เป็นประธาน มี “สุธรรม แสงประทุม” เป็นที่ปรึกษา ประเดิมชัย บุญช่วยเหลือ เป็นเลขานุการ
ขณะที่ โซน 3 และ โซน 4 เป็น โซนกรุงเทพฝั่งตะวันออก อันเป็น “จุดไข่แดง” เขตบริวาร ของ “คุณหญิงสุดารัตน์” ที่สะสมกำลังมากว่า 3 ทศวรรษ
แต่วันนี้ โซน 3 เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน บึงกุ่ม คันนายาว มีนบุรี คันนายาว และบางกะปิ มี “วิชาญ มีนชัยนันท์” ซึ่งเป็นคน (เคย) ข้างกายเจ้าแม่ กทม. เป็นประธาน และอนุสรณ์ ปั้นทอง เป็นรองประธาน
น่าสังเกตว่า เขตสายไหม มี ส.ส.ชื่อ “อนุดิษฐ์ นาครทรรพ” รองหัวหน้าพรรคคนที่ 1 กลับไร้ชื่อ เช่นเดียวกับ ดอนเมือง พื้นที่ของ การุณ โหสกุล ส.ส.ดอนเมือง
ฝั่งโซน 4 คลองสามวา หนองจอก ลาดกระบัง สะพานสูง ประเวศ สวนหลวง บางนา และพระโขนง กลับมีชื่อ “พิชัย นริพทะพันธ์” อดีต รมว.พลังงาน เป็นประธาน ทั้งที่ไม่เคยมีส่วนร่วมกับพื้นที่ กทม.โซนตะวันออก แต่มี “นพดล ปัทมะ” อดีต รมว.ต่างประเทศ ซึ่งบ้านอยู่โซนคลองสามวา เป็นที่ปรึกษา และ ธีรรัตน์ สำเร็จวานิช ส.ส.ลาดกระบัง เป็นเลขานุการ
ส่วนโซนฝั่งธน ต้องปล่อยมือให้ “อาเหลิม” ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง กำกับ และ ดูแล แบ่งเป็น โซน 5 คลองสาน บางกอกใหญ่ ธนบุรี จอมทอง ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ และบางขุนเทียน มี “กิตติรัตน์ ณ ระนอง” เป็นประธาน ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นที่ปรึกษา และกมลพัฒน์ ปุงบางกะดี เป็นเลขานุการ
โซน 6 บางบอน หนองแขม ทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางแค ภาษีเจริญ ตลิ่งชัน บางพลัด บางกอกน้อย มี ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง เป็นประธาน และสุภาภรณ์ คงวุฒิปัญญา เป็นเลขานุการ
แหล่งข่าวจากระดับ “ประธานโซน” กทม.รายหนึ่ง ชี้ว่า การปรับโครงสร้างดังกล่าว เป็นการเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้ง ทั้ง 350 เขตเลือกตั้ง ซึ่งเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะกลับมาเป็นบัตร 2 ใบ จะทำให้พรรคเพื่อไทย ได้เปรียบอีกครั้งหนึ่ง นอกจากนี้ ยังเตรียมพร้อมสำหรับเฟ้นหา ผู้สมัคร ส.ก.และ ส.ข. ที่อาจเกิดขึ้นเร็ว ๆ นี้
ผู้ที่ทำหน้าที่คุมโซนส่วนใหญ่ที่ต้องเป็น “อดีตรัฐมนตรี” เพราะจะสามารถช่วยประสานงาน กับ ส.ส.ในพื้นที่ได้อย่างราบรื่น นอกจากนี้ “คนคุมโซน” ทำหน้าที่ “เฟ้น” คนที่จะมาลงสมัครในนามเพื่อไทย ระดับท้องถิ่น อย่าง ส.ก. ส.ข. ร่วมกับ ส.ส.ในพื้นที่ แต่จะมีสิทธิในการคัดเลือกผู้สมัครระดับท้องถิ่นในพื้นที่ของตนเอง ก่อนเสนอให้คณะกรรมการบริหารพรรคเห็นชอบ
ในส่วนโซนของ กทม.ที่ รื้อโครงสร้างเดิมของสมัยคุณหญิงสุดารัตน์ ออกไปนั้น แหล่งข่าวรายเดิมกล่าวว่า เพราะจากเดิม “คุณหญิงหน่อย” คุมคนเดียวทั้งหมด ไม่แบ่งให้ใคร ดังนั้น เมื่อเขาไม่อยู่แล้วก็ต้องมาแบ่งงานให้คนอื่นรับผิดชอบบ้าง
ส่วน ส.ส.ที่เคยอยู่กับคุณหญิงหน่อยบางราย ก็มาแจ้งกับทางผู้ใหญ่ในพรรคแล้วว่าไม่ตามไปอยู่ไทยสร้างไทย และยังช่วยหาผู้สมัคร ส.ก. และ ส.ข.มาเสนอกับทางพรรคด้วย ขณะที่บางรายก็ไปบอกให้ ร.ต.อ.เฉลิม ให้ช่วยไปพูดกับพรรคว่าว่ายังอยู่กับพรรค…ไม่คิดเปลี่ยนใจไทยสร้างไทย
สถานการณ์วันนี้ ไม่ใช่ฝุ่นตลบเฉพาะพรรคฝ่ายรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านก็มีสับเปลี่ยนกำลัง เพื่อไทย จึงต้องเร่งลงมือ เพราะประกาศเมื่อเดือนมกราคม 2564 ว่า จะส่งผู้สมัคร 350 เขต ไม่มีแตกพรรคแบงก์ร้อย จึงต้องรองรับอุบัติเหตุการเมือง