ตั้งอยู่หมู่ 4 ตำบลจอมพระ ปราสาทจอมพระมีลักษณะของสิ่งก่อสร้างที่เรียกว่า อโรคยศาล มีโครงสร้างที่ยังสมบูรณ์อยู่มาก อาคารต่าง ๆ ก่อด้วยศิลาแลงและใช้หินทรายประกอบ หันหน้าไปทางทิศตะวันออกมีส่วนประกอบหลัก 4 ส่วน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะแบบอโรคยศาลดังที่พบในที่อื่น คือ ปรางค์ประธานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสมีมุขหน้า บรรณาลัยหรืออาคารรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าตั้งอยู่ทางด้านหน้า มีกำแพงล้อมรอบพร้อมซุ้มประตูรูปกากบาทและสระน้ำนอกกำแพง โบราณวัตถุสำคัญที่พบได้แก่ เศียรพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร 1 เศียร และรูปพระวัชรสัตว์ 1 องค์เช่นเดียวกับที่พบที่อโรคยศาลในอำเภอพิมายและที่พระปรางค์วัดกู่แก้ว จังหวัดขอนแก่น โบราณวัตถุเหล่านี้เป็นรูปเคารพในพุทธศาสนา ลัทธิมหายาน มีลักษณะตรงกับศิลปะขอมแบบบายน ซึ่งเป็นแบบศิลปะที่เจริญอยู่ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งอาณาจักรขอม สำหรับปราสาทหินจอมพระ ขณะนี้อยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมมาก คงเหลือโครงปราสาทหินองค์ประธาน และซุ้มประตูโคปุระ ทางเข้าด้านทิศตะวันออก ที่เป็นหินศิลาแลง เพียงบางส่วนเท่านั้น หินศิลาแลง ที่ใช้ก่อสร้างได้พังทลายลงบนพื้นดิน และถูกดินทับถมเป็นจำนวนมาก จนต้องทำการขุดค้นขึ้นมาเพื่อสำรวจศึกษาและบูรณะ อ.บุญเรือง คัชมาย์ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเขมรศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ เปิดเผยว่า ปราสาทหินจอมพระแห่งนี้ มีอายุราว 800 ปี ประวัติทางโบราณคดี กล่าวไว้ตามหลักฐานว่า ปราสาทหินจอมพระ คือ อโรคยาศาล ที่พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 มหาราชองค์สุดท้ายของราชอาณาจักรเขมร ทรงสร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 1724-1763 ให้อยู่ภายใต้ พระพุทธเจ้าผู้ทรงการแพทย์ คือ พระการเภสัชยคุรุไวฑูรยประภา ผู้ประทานความสุขเกษม และความไม่มีโรคให้กับประชาชน “ส่วนปราสาทในรูปแบบเดียวกันและสร้างในยุคเดียวกันนี้ ในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ มีถึง 6 แห่ง คือ ปราสาทจอมพระ , ปราสาท ,บ้านเฉนียง , ปราสาทสนม ,ปราสาทช่างปี่และปราสาทหมื่นไวย ซึ่งปราสาทเหล่านี้ทรุดโทรมลงไปมาก แต่อย่างไรก็ตามปราสาทเหล่านี้เป็นอโรคยาศาล หรือโรงพยาบาล ซึ่งมีหลักฐานเป็นศิลาจารึกไว้เป็นหลักฐานที่ชัดเจน และมีการเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีในขณะนี้” อ.บุญเรือง กล่าว การเดินทาง ห่างจากตัวเมืองสุรินทร์ประมาณ 26 กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข 214 (สุรินทร์-ร้อยเอ็ด) เข้าตัวอำเภอจอมพระ มีทางแยกขวามือเข้าวัดป่าปราสาทจอมพระอีก 1 กิโลเมตร สอบถามข้อมูล ได้ที่ททท.สำนักงานสุรินทร์ โทร. 0 4451 4447-8