ในช่วงปลายของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะผู้เขียนถูกจับในกัมพูชา เพราะเขมรสงสัยว่าเราเป็นสายลับให้นายอภิสิทธิ์ แต่โชคยังดีที่ทูตอินโดนีเซียช่วยเหลือออกมาได้
เรื่องมันมีอยู่ว่าเดือนเมษายน 2544 ทหารไทยกับทหารกัมพูชาปะทะกันที่เขาพระวิหารTv one ของอินโดนีเซียเลยจ้างเราให้เป็นโปรดิวเซอร์ ทำข่าวเขาพระวิหารทั้งฝั่งไทยในกัมพูชา
ผู้เขียนกับผู้สื่อข่าวอินโดนีเซีย มิต้าแนนิสสา และช่างภาพทีวีได้วีซ่าเข้าไปเสียมเรียบทางช่องจอม แต่เราจ้างแท็กซี่ตรงไปจังหวัดพระวิหาร พอไปถึงเขาพระวิหารปรากฏว่าทางขึ้นปราสาทในฝั่งเขมร เป็นถนนลูกรังคดเคี้ยวขึ้นไปตามสันเขารถแท็กขึ้นไม่ได้ต้องหาจ้างรถโฟวีล
ขณะที่รอรถโฟวีลจู่ๆ ก็มีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองมาเชิญเราไปรอในสำนักงาน แต่แทนที่จะเป็นสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง พวกเรากลับไปโผล่ในค่ายทหาร พอไปถึงตรงนั้นมีทหารติดอาวุธครบมือเหมือนหน่วยอรินทราชบ้านเราหกนาย ควบคุมเราแยกเราออกจากอินโดนีเซียสองคน
ถูกสอบเครียดอยู่สองชั่วโมงกว่าเพราะพวกเขาไม่เชื่อว่าผู้เขียนเป็นนักข่าว เขากล่าวหาว่าผู้เขียนเป็นสายลับให้รัฐบาลไทย ทหารเขมรบอกปล่อยให้อินโดนีเซียกลับได้แต่จะส่งผู้เขียนต่อไปพนมเปญ
นักข่าวอินโดนีเซียไม่ยอม บอกว่าเราเป็นทีมงานเดียวถ้าปล่อยต้องทั้งหมด ทหารเขมรไม่ยอมสุดท้ายนักข่าวอินโดฯโทรไปหาทูตอินโดนีเซียในพนมเปญ เขาพูดกันอย่างไรไม่ทราบสุดท้ายทหารเขมรปล่อยให้เรากลับได้แต่ออกมาถึงช่องจอมสามทุ่มด่านปิดแล้วเราต้องนั่งหลับในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองฝั่งเขมรจนเช้าจึงเข้ามาฝั่งไทย
มาถึงโรงแรมในสุรินทร์แล้วนักข่าวอินโดฯจึงบอกว่าเขมรเกรงใจอินโดนีเซียมาก เพราะยูเอ็นแต่งตั้งให้อินโดนีเซียเป็น observer ใน
ความขัดแย้งเขาพระวิหารระหว่างไทยกับกัมพูชา และที่เป็น obsever ได้เพราะอเมริกันสนับสนุนผลักดัน
จากเหตุการณ์วันนั้นผู้เขียนเลยถึงบางอ้อว่า อเมริกาใช้อินโดนีเซียเป็นหน้าม้าอินโดนีเซียได้ซ่าจุ้นจ้านกับเหตุการณ์ภายในประเทศอาเซียน โดยในระหว่างสงครามเขมรสามฝ่ายเข้ามาเป็นเจ้ากี้เจ้าการทุกอย่าง
ดังนั้นเมื่อรัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซียเรโต มาร์สุดิ มาพบกับ รมต.ต่างประเทศพม่านายวันนะ หม่องลวิน และนายดอน ปรมัตถ์วินัยรองนายกฯ และรัฐมนตรีต่างประเทศของไทยจึงอนุมานได้ว่าอินโดนีเซียเป็นหน้าม้าของอเมริกาลากปัญหาภายในพม่าเข้ามาเป็นปัญหาอาเซียน
ระหว่างการพบปะกันสามฝ่ายอย่างไม่เป็นทางการเป็นเวลา 20 นาที ที่ดอนเมือง นางมาร์สุดิ กล่าวว่า “อินโดนีเซียให้ความสำคัญกับความปลอดภัยและความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศ (พม่า) และความต้องการของชาวพม่าต้องได้รับตอบสนอง ตลอดถึงให้ความสำคัญกับหลักการสิทธิมนุษย์ต้องเข้าถึงผู้ที่ถูกควบคุมตัวและต้องได้รับการเยี่ยม..”
แต่พอกลับไปถึงสนามบินอินโดนีเซีย นางออกลายแถลงข่าวว่า “ดิฉันได้พูดดังๆและชัดเจนว่า เป็นความสำคัญยิ่งที่สมาชิกประชาคมอาเซียนต้องเคารพหลักการพื้นฐานที่บัญญัติไว้ในธรรมนูญของอาเซียน…นั้นคือต้องยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตย หลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล เคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพพื้นฐาน..” นางพูดเหมือนกับได้โพยมาจากวอชิงตันและลืมไปว่าสมาชิกอาเซียนเช่น สปป.ลาว กับเวียดนามเขาใช้หลักการคอมมิวนิสต์
รมต.ต่างประเทศ อินโดนีเซีย กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมสามฝ่ายพูดถึงความเป็นได้ที่จะจัดประชุมวาระพิเศษของรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศอาเซียนในเดือนสิงหาคม เพื่อจะถกปัญหาสถานการณ์และเหตุการณ์ในพม่า…
นางกล่าวด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะพบกับ รมต.ไทยและรมต.พม่า นางได้พูดคุยเจรจากับสหรัฐอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย อินเดียและสมาชิกประชาคมอาเซียนอื่นๆ เช่น เวียดนาม บรูไน ลาว กัมพูชา ฟิลิปปินส์ ฯลฯ (น่าจะพูดทางโทรศัพท์)
ที่สำคัญ รมต.อินโดนีเซียจุ้นจ้านในฐานะอะไร เป็นประธานหมุนเวียนอาเซียนก็ไม่ใช่? จึงอนุมานได้ว่าอินโดนีเซียเป็นหน้าม้าสหรัฐอเมริกา จะลากปัญหายึดอำนาจในพม่ามาสร้างวุ่นวายในประชาคมอาเซียน
ที่ต้องเป็นอินโดนีเซีย เพราะในอาเซียนอเมริกาแทบหาประเทศคบหาไม่ได้ สปป.ลาวกัมพูชา เวียดนาม พม่า ล้วนบ่ายหน้าไปหาจีน ส่วนสิงคโปร์ก็ดันไปลงทุนในพม่าไว้มากกว่าใครๆ ถึงหกแสนเจ็ดหมื่นกว่าล้านบาท จนไม่กล้ายุ่งเรื่องภายในพม่า
ก็ยังเหลือแต่อินโดนีเซียกับไทยที่สหรัฐอเมริกาพอพึ่งพาได้!!
สุทิน วรรณบวร