วันเสาร์ ที่ 02 เมษายน พ.ศ. 2565, 19.23 น.
เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา พระครูปลัดอดิศักดิ์ วชิรปญฺโญ, ดร. เจ้าอาวาสวัดสารอด อาจารย์ประจำหลักสูตรสันติศึกษา และประธานมูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง) เปิดเผยว่า พิธีบรรพชาสามเณรกอบัว รุ่น 1 ณ วัดหัวอ่างสามัคคี ต.บักได อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ เป็นขับเคลื่อนโครงการบรรพชาสามเณรกอบัว รุ่น 1 เพื่อเฟ้นหาเพชรเม็ดงามในกอบัว อีกทั้ง เป็นความร่วมมือกันระหว่างวัดสารอด วัดหัวอ่างสามัคคี และมูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง) พร้อมเครือข่ายในชุมชน โดยมีพระครูอุดมสมานคุณ เจ้าอาวาสวัดหัวอ่างสามัคคี เป็นแกนนำขับเคลื่อนดำเนินการจัดโครงการดังกล่าวขึ้น
เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองส่งบุตรหลานบวชเรียนฝึกฝนอบรมตนเอง เป็นโอกาสของลูกหลานในเขตชายแดนไทย กัมพูชา จะได้มีโอกาสทางด้านการศึกษาทางด้านพระปริยัติธรรมด้วย
โดยในภาคเช้าของวันที่ 1 เมษายน 2565 ได้รับความเมตตาจาก พระศรีธีรพงศ์, ดร. เจ้าคณะเขตราษฎร์บูรณะ เลขานุการเจ้าคณะภาค 11 เมตตาเป็นประธานฝ่ายสงฆ์และเมตตาเป็นพระอุปัชฌาย์ ได้กล่าวเป็นปฐมโอวาทแก่เหล่าสามเณรกอบัว เป็นหลักแนวคิดหัวใจที่สำคัญ เพื่อให้บรรลุ หลักแนวคิด ดี 3 งาม 4 คงที่ 8
ดี 3 คือ คิดดี พูดดี ทำดี ส่วน งาม 4 คือ รู้จักให้ รู้จักใช้คำหวาน รู้จักช่วยเหลืองาน รู้จักสมานสามัคคี และ คงที่ 8 คือ ความไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมทั้ง 8 คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ ท่านได้อธิบายว่า การรู้จักให้ โครงการสามเณรกอบัว จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีการเสียสละ ของหลายภาคส่วน ทั้งมูลนิธิโพลวพลือ (ทางสว่าง) ให้ความอุปถัมภ์ วันนี้มีคณะกรรมการมูลนิธิมาร่วมงานด้วย ทั้ง พระครูอุดมสมานคุณ เองท่านรู้จักให้ เสียสละแบ่งปัน ให้สิ่งของ
นอกจากนั้น การให้ยังรวมถึงการให้ข้อคิดสะกิดใจ เมื่อออกนอกลู่นอกทางแล้วท่านเตือนกันได้ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง หรือมีสิ่งหนึ่งสิ่งใดอาจจะมีการทะเลาะเบาะแว้ง ก็ต้องรู้จักให้อภัยกันได้
การรู้จักใช้คำหวาน เพราะทุกคนต้องการคำพูดไพเพราะทั้งนั้น จึงต้องพูดจาทางสร้างสรรค์ มีหลักการและเหตุผล เหมือนหลวงพ่อพระครูอุดมสมานคุณ ที่จัดงานบวชเณรต่อเนื่องมา 15 ปี เพราะท่านพูดมีหลักการคนก็ทำตาม พูดภาษาดอกไม้ คนก็เชื่อแล้วช่วยจัดงานท่านมาตลอด
การรู้จักช่วยเหลือกัน เมื่อมีสิ่งใดเกิดขึ้นอย่านิ่งดูดาย พอช่วยจัดช่วยทำได้ก็ต้องช่วยกันจัดทำ ต้องช่วยกันทุกฝ่าย ทุกเครือข่าย ทั้งบ้านวัดโรงเรียน ช่วยกันจัดทำ จึงทำให้โครงการนี้เกิดเกิดขึ้นมาได้
ต้องรู้จักวางตนให้ถูกต้อง ทุกคนต่างต้องมีหน้าที่บริหารจัดการ โครงการบรรพชาสามเณรกอบัว ดังนั้น สามเณรกอบัวก็ต้องรู้จักหน้าที่สามเณรกอบัว ต้องทำหน้าที่ตนเอง อย่าก้าวก่าย อย่าแทรกแทรง ก็จะเกิดความรักใครปรองดองมีความสามัคคีกัน เพราะต่างอยู่ด้วยความรัก แบบพี่น้อง แบบพ่อลูก
สุดท้ายสำคัญมากเรามาอยู่ร่วมกันอย่างนี้ ทำอย่างไรใจเราจะไม่เป็นทุกข์ ทุกข์มีมากมาย อยากได้แต่ไม่ได้เราก็ทุกข์แล้ว ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข นินทา ทำให้พอใจ แต่พอไม่ได้ก็ทุกข์
ดังนั้น ทำอย่างไรจะไม่ทุกข์จากโลกธรรมสิ่งเร้าที่ทำให้เราทุกข์ เพื่อความคงที่ 8 อย่าง คือ ไม่หวั่นไหวต่อโลกธรรมทั้ง 8 สามารถประคับประคองจิตใจตนให้ปกติได้ เป็นเป้าหมายสำคัญ ต้องรักษาใจให้ปกติเป็นสุดยอดมงคลทางพระพุทธศาสนา หากทำได้นับเป็นสุดยอด สามเณรกอบัว
ในส่วนภาคบ่าย โครงการบรรพชาสามเณรกอบัว ยังได้รับความเมตตาจาก พระราชวิมลโมลี, ผศ.ดร. เจ้าคณะจังหวัดสุรินทร์ เมตตามาให้โอวาทวาระพิเศษ โดยท่านได้สร้างแรงบันดาลใจที่สำคัญให้สามเณรกอบัว ได้มีความศรัทธาและมีความอดทน ท่านให้เน้นปฏิบัติกรรมฐานมาปฏิบัติ จะทำให้เรามีความอดทน และท่านนำเอาปฏิปทาแบบอย่างของเหล่าสามเณรที่ปรากฎในพระไตรปิฎกมาอธิบาย เช่น สามเณรราหุล ผู้ใฝ่ในการศึกษา มาเล่าให้สามเณรกอบัวได้ฟังด้วย จึงนับเป็นความเมตตาของพระมหาเถระที่เมตตาต่อลูกหลานในแถบชายแดน